ผู้ค้ายาสูบหวั่นภาพคำเตือนใหญ่ควบขึ้นภาษีพาค้าปลีกรากหญ้าทรุด ยันปฏิรูปโครงสร้างสรรพสามิตเป็นทางออกที่ดีต่อทุกฝ่าย

ข่าวทั่วไป Monday September 22, 2014 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง สมาคมการค้ายาสูบไทย แสดงความกังวลต่อท่าที่ของกรมสรรพสามิตที่จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้พิจารณาขึ้นภาษีบุหรี่ เกรงภาคร้านค้าปลีกธุรกิจทรุด โดยเฉพาะเมื่อมารวมกับการเพิ่มขนาดภาพคำเตือนร้อยละ 85 บนซองบุหรี่ที่เพิ่งประกาศบังคับใช้ ทางสมาคมฯ เห็นว่าการบรรลุเป้าหมายทางการจัดเก็บภาษีนั้น ควรปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี มิใช่เพียงแต่ขึ้นภาษี ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะผู้บริโภคหันไปสูบบุหรี่ราคาถูกลง เกิดปัญหาการทะลักของบุหรี่ราคาถูก บุหรี่ปลอมและบุหรี่ลักลอบผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ได้ช่วยลดอัตราการบริโภคบุหรี่แต่กลับจะกระทบร้านค้าปลีกและเศรษฐกิจรากหญ้า จากการประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ของนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ในเรื่องการเตรียมเสนอ รมว.คลัง ให้เก็บภาษีบุหรี่ สุรา และเบียร์เพิ่มมากขึ้น โดยมีเป้าหมายให้การเข้าถึงสินค้าดังกล่าวยากขึ้นหรือลดลงเพื่อเป็นการปกป้องสังคมและป้องกันสุขภาพของประชาชน แต่แท้ที่จริงแล้ว การขึ้นภาษีมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งแก่ภาครัฐและกระทบกลุ่มร้านค้า อีกทั้งไม่ช่วยในเป้าหมายด้านการควบคุมยาสูบ เนื่องจากผู้สูบจะหันไปหาบุหรี่ที่มีราคาต่ำแทน ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ระดับล่างที่มีราคาถูกมากและบุหรี่ที่ลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้รัฐชวดรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ควรจะได้จากการจำหน่ายบุหรี่ถูกกฎหมายคิดเป็นมูลค่ามหาศาล โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังเคยได้ประมาณการจำนวนผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายที่วางขายอยู่ในประเทศทั้งสิ้นประมาณ 180 ล้านซอง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจากรายได้การจัดเก็บภาษีถึง 5 พันล้านบาท และนอกจากนี้ นายสมชาย พูลสวัสดิ์ ยังเคยกล่าวไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า มีการแจ้งคดีการลักลอบบุหรี่ผิดกฎหมายเข้ามายังประเทศไทยถึงกว่า 25,000 คดี ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการเพิ่มภาษีไปเมื่อครั้งก่อน นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่า “ทางสมาคมฯ เชื่อว่าการปฏิรูปภาษียาสูบน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดแก่ทุกฝ่าย และยังสอดคล้องกับการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทางเราสนับสนุนข้อเสนอแนะที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเคยได้กล่าวไว้ นั่นก็คือความจำเป็นในการปฏิรูปโครงสร้างสรรพสามิต โดยเดินหน้าการปฏิรูปเรื่องระบบผสมและราคาขายปลีก และชะลอการปรับขึ้นภาษีในตอนนี้น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจรากหญ้าโดยเฉพาะในภาวะที่ความเชื่อมั่นมีความอ่อนไหว นอกจากนั้นการปฏิรูปดังกล่าวจะช่วยให้ระบบจัดเก็บภาษีของประเทศมีความโปร่งใส ยุติธรรม และไม่ซับซ้อน จากระบบเดิมที่ใช้ในปัจจุบันซึ่งมีปัญหาหลัก 3 ประการ ได้แก่ การเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า ระบบมีความซับซ้อน ยุ่งยาก และไม่รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงพร้อมกับการแข่งขันทางการค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง ณ ขณะนี้ถือเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่กระทรวงการคลังจะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวมาปรับใช้ เนื่องจากจะส่งผลดีต่อความมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีและสร้างรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่มากขึ้นให้แก่ประเทศในระยะยาว” หากมีการปรับเปลี่ยนให้ขึ้นภาษีชนเพดานการจัดเก็บที่ร้อยละ 90 จะส่งผลกระทบต่อราคาขายบุหรี่ทั้งแบรนด์ของโรงงานยาสูบและแบรนด์บุหรี่นำเข้าอื่นๆ การเพิ่มภาษีเป็นร้อยละ 90 จะทำให้ราคาบุหรี่ในกลุ่มราคาระดับกลางกระโดดจากซองละ 65 บาท เป็น 82 บาท และบุหรี่ราคาระดับพรีเมี่ยมจากซองละ 92 บาท เป็นซองละ 114 บาท “จากการขึ้นภาษียาสูบในครั้งก่อนไม่ได้ทำให้อัตราการบริโภคบุหรี่ลดลง เนื่องด้วยผู้บริโภคหันไปสูบบุหรี่ที่มีราคาถูกกว่า อย่างเช่น บุหรี่ที่มีราคาต่ำมากๆ หรือบุหรี่ลักลอบและบุหรี่ปลอม บุหรี่มวนเอง ซึ่งสถานการณ์นี้เป็นฝันร้ายของร้านค้าปลีก ซึ่งปัจจุบันต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการแข่งขันในตลาดอยู่แล้ว โดยปัญหาบุหรี่ปลอมบุหรี่ลักลอบยิ่งทำให้ร้านค้าต้องทรุดหนักยิ่งกว่าเดิม นอกจากนั้นสถานการณ์ดังกล่าวยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐบาลโดยดูได้จากตัวเลขล่าสุดที่กระทรวงการคลังได้ออกมาเผยว่า รัฐบาลทำรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึงกว่า 61,000 ล้านบาทเมื่อช่วงปีงบประมาณเดือนตุลาคม 2556 ถึงกรกฎาคม 2557” นางวราภรณ์ กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ