สำรวจพบจุดเสี่ยงนักเรียนตีกัน ป้ายรถเมล์ สถานีขนส่ง ห้างสรรพสินค้ายอดฮิต

ข่าวทั่วไป Wednesday September 24, 2014 13:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลสำรวจความคิดเห็นต่อปัญหานักเรียนตีกันของกลุ่มวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,139 คน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.75 ขณะที่ร้อยละ 49.25 เป็นเพศชาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 39.95 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 18 ถึง 21 ปี และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย / ประกาศนียบัตรวิชาชีพ /เทียบเท่าคิดเป็นร้อยละ 37.05 ในด้านความสนใจต่อข่าวเกี่ยวกับนักเรียนตีกัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 44.95 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามรายละเอียดของข่าวนักเรียนตีกันเป็นบางข่าว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.2 ยอมรับว่าไม่ค่อยสนใจหรือไม่สนใจติดตามรายละเอียดของข่าวเกี่ยวกับนักเรียนตีกันเลย และมีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 24.85 ที่ระบุว่าให้ความสนใจติดตามรายละเอียดในทุกข่าวที่เกี่ยวกับนักเรียนตีกัน และเมื่อทราบว่ามีเหตุการณ์เกี่ยวกับนักเรียนตีกัน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 34.5 รู้สึกเฉย ๆ / เป็นเรื่องปกติ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 23.79 รู้สึกเบื่อหน่าย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.87 ร้อยละ 12.29 และร้อยละ 9.31 รู้สึกโกรธ / โมโห รู้สึกเศร้า / เสียใจ และรู้สึกรำคาญใจตามลำดับ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.91 ยอมรับว่าตนเองเคยเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์นักเรียนตีกันอย่างน้อย 1 ครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.09 ระบุว่าไม่เคย สำหรับสถานที่ที่มีความเสี่ยงจะเกิดเหตุการณ์นักเรียนตีกันได้สูงสุด 3 อันดับตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ป้ายรถประจำทาง / สถานีรถขนส่งสาธารณะ คิดเป็นร้อยละ 82.35 บริเวณห้างสรรพสินค้า คิดเป็นร้อยละ 79.98 และบริเวณที่มีการจัดงาน (คอนเสิร์ต กีฬา งานวัด) คิดเป็นร้อยละ 77.26 ส่วนสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่ทำให้เกิดปัญหานักเรียนตีกัน ได้แก่ ปัญหาความไม่ลงรอย / ผิดใจกันส่วนตัว คิดเป็นร้อยละ 83.85 ทำตาม / ต้องการช่วยเพื่อน คิดเป็นร้อยละ 79.89 อยากเรียกร้องความสนใจ / การยอมรับจากเพื่อน / รุ่นพี่ คิดเป็นร้อยละ 77.09 ความคึกคะนอง คิดเป็นร้อยละ 74.89 และการอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์ คิดเป็นร้อยละ 72.61 ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหานักเรียนตีกัน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.38 ไม่เชื่อว่าปัญหานักเรียนตีกันจะได้รับการแก้ไขให้หมดไปจากสังคมไทยได้สำเร็จ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.27 มีความคิดเห็นว่าการนำนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันที่เคยมีปัญหาตีกันมาทำกิจกรรมร่วมกันไม่ช่วยลดปัญหานักเรียนตีกันได้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการลงโทษผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นักเรียนตีกันตามกฎหมายอย่างรุนแรงโดยไม่มีการลดหย่อนกับการนำผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นักเรียนตีกันไปเข้าค่ายขัดเกลาจิตใจบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.02 ระบุว่าควรทำทั้งสองวิธีควบคู่กันจะช่วยลดปัญหานักเรียนตีกันได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.45 ระบุว่าการลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดจะช่วยลดปัญหานักเรียนตีกันได้มากกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.53 ระบุว่าการอบรมขัดเกลาจิตใจจะช่วยลดปัญหาได้มากกว่า นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าบุคคลที่มีส่วนสำคัญที่สุดที่ช่วยให้นักเรียนนักศึกษาลดปัญหาการตีกันลงได้ คือ รุ่นพี่ / ศิษย์เก่าซึ่งคิดเป็นร้อยละ 28.97 รองลงมาร้อยละ 24.67 ระบุว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.72 ระบุว่าครูอาจารย์ / ผู้บริหารสถาบันการศึกษา
แท็ก รถเมล์   สถานี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ