ไอเดียคณะวิทย์-เทคโนโลยี ชุดรีไซเคิล กระดาษหนังสือพิมพ์

ข่าวทั่วไป Thursday September 25, 2014 16:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดยองค์การนักศึกษา มทร.ธัญบุรี จัดงาน RMUTT Freshy Night 2014 ณ หอประชุม มทร. ธัญบุรี เพื่อคัดเลือกนักศึกษาทั้งชายและหญิง (Freshy Boy & Girl 2014) เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยในการทำกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยตลอดปีการศึกษา 2557 สิ่งที่สร้างสีสันอย่างหนึ่งบนเวทีการประกวด นั่นคือ ชุดประจำคณะ จากทั้งหมด 10 คณะ และ 1 วิทยาลัย โดยองค์การนักศึกษา กำหนดแนวคิด (Theme) การประกวดในหัวข้อ “คณะของคุณ ให้อะไรกับสังคมบ้าง” Your Share and Sharing ชุดประจำคณะที่โดดเด่น แปลกตา สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ แฝงด้วยจิตสำนึกที่ดีของการรักษ์โลก และได้เสียงปรบมือจากน้อง ๆ นักศึกษา คือ ชุดประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ทำจากกระดาษหนังสือพิมพ์และของเหลือใช้จากชีวิตประจำวัน ซึ่งดาวเดือนคณะวิทยาศาสตร์ฯ ที่สวมใส่ชุดนี้ในการประกวด คือ “ใยบัว” นางสาว นภัส พัฒนพานิช และ “เวก” นายพรหมเมธ พินิจการ “กาญจน์” นายกีรติ กีรติโอภาสวัสดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และเป็นนายกสโมสรคณะวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของคณะ เล่าว่า เมื่อทราบโจทย์เกี่ยวกับการประกวด จึงได้ปรึกษาหารือกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ว่าจะออกแบบไปในทิศทางใด ซึ่งมีหลากหลายความเห็นมาก แต่สิ่งหนึ่งที่พี่น้องชาววิทยาศาสตร์ฯ เข้าใจและตีความไปในทิศทางเดียวกัน เกี่ยวกับความหมายของคำว่า Share อันหมายถึงการแบ่งปัน ซึ่งก่อนที่จะแบ่งปันนั้น เราก็ต้องพร้อมที่จะให้ก่อน จึงเกิดเป็นแนวคิดชุดประจำคณะของวิทยาศาสตร์ฯ ที่ว่า “เราพร้อมจะให้ และแบ่งปัน” “ชุดทั้ง 2 ชุดนี้สร้างสรรค์ขึ้นด้วยสิ่งของที่หาง่าย ใกล้ตัว และไม่ได้มากมายไปด้วยมูลค่า เพราะเราต้องการนำเสนอว่า ทุกวันนี้สังคมของเรา วัดกันด้วยมูลค่า มากเกินไป หลายคนจึงพลาดที่จะมองเห็นใน คุณค่า ซึ่งเป็นความงามที่แท้จริงในสิ่งเหล่านั้น และเป็นสิ่งที่เราพร้อมจะให้และแบ่งปันสังคม ซึ่งนั่นก็คือ ทัศนคติที่ดี และเมื่อสังคมมีความหลากหลายไปด้วยทัศนคติที่ดี เห็นคุณค่าในความงามที่แท้จริงของตนเองและสิ่งรอบตัว นอกจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว เราทุกคนควรพรั่งพร้อมไปด้วยความคิดและทัศนคติที่ดีควบคู่กัน สังคมของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน” นายกีรติ กล่าว ความหมายที่ดีของชุด แฝงไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และปรัชญาแล้ว ในด้านการนำไปใช้จริงบนเวทีการประกวดก็ไม่มีปัญหาในการสวมใส่ เพราะมีน้ำหนักเบา มีความพลิ้วไหว และเลือกใช้โทนสีเงินเพื่อขับผิวให้ผู้สวมใส่เกิดความสง่างาม ทั้งยังมีมิติสีจากหมึกของกระดาษหนังสือพิมพ์ช่วยเพิ่มให้ชุดมีสีสัน ซึ่งทั้งสองชุดนี้ แม้จะไม่มีราคา แต่มีมูลค่าทางจิตใจสูง เพราะเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกัน ออกแบบ ตัดเย็บ พับรีด หรือติดปะของทีมงานคณะวิทยาศาสตร์ฯ แม้บางคนจะไม่ได้ถนัดเรื่องการตัดเย็บชุด แต่ก็มาร่วมส่งกำลังใจในการทำอยู่ตลอด โดยใช้ระยะเวลาในการสร้างสรรค์ 12 วันมากไปกว่าการออกแบบ ความปราณีตในการประดิษฐ์ การสวมใส่หรือรางวัลจากการประกวด นั่นคือ การได้ฝึกปฏิบัติร่วมกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ที่ช่วยเติมเต็มและเพิ่มพูนความสัมพันธ์พี่น้องชาวบัวสวรรค์ธัญบุรี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ