อย. เข้มงวดเรื่องบอแรกซ์

ข่าวทั่วไป Thursday September 10, 1998 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--10 ก.ย.--อย.
อย. เผยการดำเนินงานตรวจสอบบอแรกซ์ในอาหาร ปีงบประมาณ 2541 นอกจากส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมตรวจกับคณะอนุกรรมการสำรวจคุณภาพสินค้าฯ แล้ว ยังจัด ทำโครงการแก้ไขปัญหาการใช้สารบอแรกซ์ในอาหารอีกต่างหาก โดยเก็บตรวจอาหารจากผู้จำหน่ายในตลาดสดขนาดใหญ่กลางกรุงไปแล้ว นับ 10 แห่ง
น.พ. ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผย เกี่ยวกับการดำเนินการเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนหรือการใส่สารที่ห้ามใช้ในอาหาร เช่น บอแรกซ์ ว่า อย. ได้ดำเนินการอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความร่วมมือกับคณะอนุกรรมการสำรวจคุณภาพสินค้าและปริมาณเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งมีนายแพทย์บุญเทียม เขมาภิรัตน์ เป็นประธาน โดยมีการดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 ถึงปัจจุบัน และทำการสำรวจตลาด รวมทั้งห้างสรรพสินค้าในเขตจังหวัดนนทบุรี สัปดาห์ละ 1-2 วัน ซึ่งได้เก็บตัวอย่างอาหารทั้งหมด 87 ตัวอย่าง ตรวจพบบอแรกซ์ 79 ตัวอย่าง รอผลอีก 3 ตัวอย่าง ทั้งนี้ อย. ได้ส่งเรื่องไปยังสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดีแล้ว 48 ราย ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างดำเนินคดี นอกเหนือจากนี้ อย. ยังได้จัดทำโครงการแก้ไขการใช้สารบอแรกซ์ในอาหารขึ้นต่างหากอีกโครงการหนึ่ง โดยทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้จำหน่ายอาหารในตลาดสด ซึ่งเป็นแหล่งที่ใส่สารบอแรกซ์ดังกล่าว ทราบถึงพิษภัย บทลงโทษ และได้เก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์เพื่อดำเนินคดีตามกฏหมายไปบางส่วนแล้ว ซึ่งในการเก็บตัวอย่างดังกล่าวได้มีการใช้รถโมบายหรือรถที่มีอุปกรณ์การตรวจสอบอาหารเบื้องตันไปเก็บตัวอย่างอาหารในตลาดสดขนาดใหญ่ใน กทม. รวม 10 แห่ง เช่น ตลาดพรานนก, ห้วยขวาง, เทเวศร์, ซังฮี้, คลองเตย, บางซื่อ, บางแค เป็นต้น และจะทำการตรวจซ้ำอีก หลังจากมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แล้ว หากผลการทดสอบมีบอแรกซ์ ก็จะเก็บตัวอย่างส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดำเนินการตามกฏหมายต่อไป นอกจากนี้ยังได้ประสานขอความร่วมมือไปยัง กทม. ในการเฝ้าระวังติดตามการใช้สารบอแรกซ์ในตลาดสดและสถานที่จำหน่ายอาหารอื่น ๆ อีกด้วย
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า การนำสารบอแรกซ์ใส่ในสารอาหาร จะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย โดยเมื่อบอแรกซ์เข้าสู่ร่างกายจะทำให้มีผลกระทบต่อประสาทส่วนกลาง ระบบย่อยอาหาร ตับ ไต และผิวหนัง โดยทำให้เกิดอาการพิษต่าง ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาจมีอาการชัก ความดันต่ำ บางคนมีอาการทางไต และตับอักเสบ บางรายอาจหมดสติถึงตาย โดยเฉพาะในเด็กเล็กจะเกิดอาการพิษได้ง่าย จึงขอเตือนผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารให้เห็นแก่ความปลอดภัยของผู้บริโภค อย่าได้ใช้สารบอแรกซ์ใส่ในอาหารโดยเด็ดขาด หากตรวจพบจะถูกดำเนินการตามกฏหมายทันที โทษฐานผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของผู้บริโภคควรเลือกซื้ออาหารที่มีลักษณะตามธรรมชาติ หากมีลักษณะกรอบหรือแข็งจนผิดปกติ อาจมีบอแรกซ์เจือปนอยู่จึงไม่ควรซื้อมาบริโภคโดยเด็ดขาด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร 590-7123--จบ--

แท็ก อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ