แนวโน้มค่าเงินผันผวน ปลายปีมีสิทธิ์อ่อนแตะ 33 บาท/ดอลลาร์ กสิกรไทยแนะผู้ประกอบการทำประกันความเสี่ยง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 1, 2014 15:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--ธนาคารกสิกรไทย กสิกรไทยมองเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าระยะสั้น แต่ปลายปีอ่อนแตะ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พร้อมแนะผู้นำเข้า-ส่งออกทำประกันความเสี่ยงรับความผันผวน ต่างชาติขนเงินเข้าไทยลงทุนในตราสารหนี้ 8 เดือน กว่า 260,000 ล้านบาท ขณะที่เอกชนแห่ออกหุ้นกู้ปีนี้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า กสิกรไทยมองค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยมีเป้าหมายสิ้นปีอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้น คาดปีหน้าอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ส่งผลให้กระแสเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่และดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาทและเงินสกุลเอเชียในช่วงปลายปี อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น ค่าเงินบาทอาจมีความผันผวนปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้บ้าง เนื่องจากยังมีเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้จากนักลงทุนต่างชาติที่โยกเงินเข้ามาลงทุน (Portfolio Investment) และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ในแหล่งที่มีผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรของประเทศไทยกว่า 1.4 แสนล้านบาท ประกอบกับ คาดการณ์ว่าอาจมีการออกมาตรการผ่อนคลายการเงินรอบใหม่ของธนาคารกลางยุโรปจากการประชุมในวันที่ 2 ต.ค.นี้ ซึ่งหากมีการอัดฉีดสภาพคล่องตามมาตรการใหม่จริงจะทำให้มีเงินอีกระลอกไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ และอาจทำให้เงินบาทและสกุลเพื่อนบ้านแข็งค่าขึ้นได้ชั่วคราว สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำเข้า ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2557 แนะนำให้เริ่มเข้าป้องกันความเสี่ยงด้วยธุรกรรม Forward หรือ ธุรกรรม Option โดยทยอยซื้อดอลลาร์ (ต้นปีอยู่ที่ประมาณ 33.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) และรอจังหวะซื้อดอลลาร์เพิ่มหากธนาคารกลางยุโรปมีการเพิ่มมาตรการผ่อนคลายการเงิน ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ที่จะส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งเงินบาทแข็งค่าขึ้นชั่วคราว จากสถิติของธนาคารพบว่า การเข้าป้องกันความเสี่ยงของผู้ประกอบการในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2557 มีสัดส่วนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากค่าเงินมีความผันผวนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยในปี 2556 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 28.56 - 32.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คือมีการเคลื่อนไหวถึง 4.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือ 15.1% ขณะที่ในปีนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 31.75 – 33.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออยู่ในกรอบช่วง 1.40 บาทต่อดอลลาร์ หรือเพียง 4.2% ส่งผลให้การบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ประกอบการลดลง โดยสัดส่วนการป้องกันความเสี่ยงของผู้ประกอบการผ่านธุรกรรม Forward เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วลดลงจาก 43.5% ในปี 2556 เป็น 39.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน และมีการใช้บัญชีเงินฝากที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ (FCD) เพิ่มขึ้น 73% ทั้งนี้ ผู้ส่งออกที่มองว่าค่าเงินบาทอาจมีโอกาสแข็งค่าขึ้นในช่วงที่จะได้รับชำระค่าสินค้าก่อนปลายปี แนะนำให้เข้าป้องกันความเสี่ยงโดยการซื้อ Put Option ซึ่งเป็นการประกันอัตราแลกเปลี่ยนขั้นต่ำสุดในการขายดอลลาร์หากบาทแข็งค่า และในขณะเดียวกันจะมีโอกาสขายได้อัตราที่ดีขึ้นอีกหากเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าป้องกันความเสี่ยงไม่เสียโอกาสหากเงินบาทอ่อนค่าลงมากเหมือนการทำ Forward ปกติ ด้านตลาดตราสารหนี้ของไทย กลุ่มนักลงทุนต่างชาติยังเข้าซื้อตราสารหนี้ของไทยเพิ่มอย่างต่อเนื่องโดยนับจากต้นปีจนถึงปลายเดือนสิงหาคม นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อตราสารหนี้ไทยกว่า 260,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกันผู้ออกหุ้นกู้ภาคเอกชนก็ใช้จังหวะที่อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับต่ำตลอดปี 2557 ออกหุ้นกู้เอกชนระยะยาว โดยมีมูลค่าการออกหุ้นกู้นับตั้งแต่ต้นปี 2557 ถึงปลายเดือนสิงหาคมกว่า 420,000 ล้านบาท (นับรวมหุ้นกู้ของธนาคารพาณิชย์) โดยทั้งตลาดคาดการณ์ว่าหุ้นกู้เอกชนที่ออกจำหน่ายในปีนี้ รวมแล้วจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ