ฟิทช์: อันดันเครดิตประเทศไทยยังคงมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 1, 2014 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานสัมมนาประจำปีของบริษัทฯ ที่ จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ ว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยและของสถาบันการเงินไทยยังคงได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แม้ว่ายังคงเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่างๆ อาทิ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างต่ำ และสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจภายในประเทศที่ท้าทาย ในงานสัมมนาดังกล่าว ฟิทช์ได้รับเกียรติจากท่านรองนายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้กล่าวเปิดงานสัมมนา รวมถึงหัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตต่างๆ ของฟิทช์ ได้นำเสนอ มุมมอง ความเสี่ยง และผลกระทบต่ออันดับเครดิตในกลุ่มอันดับเครดิตต่างๆ นายเจมส์ แมคคอแมค หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศทั่วโลก ได้ให้ความเห็นว่า กลุ่มประเทศในตลาดที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะแถบยุโรป ยังคงรักษาอันดับเครดิตไว้ได้ในปี 2557 ในขณะที่ระดับภาระหนี้ภาครัฐยังคงสูงอยู่ ซึ่งตอกย้ำความจำเป็นของมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อการบริหารจัดการหนี้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การบริหารนโยบายต่างๆ มีความยากในการดำเนินการมากขึ้น เมื่อศักยภาพในการเจริญเติบโตของประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะเดียวกันกลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ยังคงรักษาอันดับเครดิตในปีนี้ไว้ได้เช่นเดียวกัน โดยมีจำนวนประเทศที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตและปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเพียงบางส่วนเท่านั้น ภายหลังจากที่นโยบายการเงินของสหรัฐกลับสู่สภาวะปกติ มีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดเกิดใหม่จะได้รับแรงกดดันจากการหมุนเวียนของเงินทุนภายนอก อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่าตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ รวมถึงประเทศไทย มีสถานะค่อนข้างมั่นคงในการรองรับแรงกดดันดังกล่าว อันดับเครดิตของประเทศไทยที่ระดับ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ได้รับการสนับสนุนจากความแข็งแกร่งของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ระดับหนี้สาธารณะที่ไม่สูงมากนัก และกรอบนโยบายการเงินที่น่าเชื่อถือ นายแมคคอแมคกล่าวว่า ความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ได้ช่วยให้เศรฐษกิจไทยสามารถฟื้นตัวกลับมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศหลายครั้งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3% ถึง 3.5% ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคและประเทศที่มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกัน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของหกประเทศอาเซียนที่จัดอันดับโดยฟิทช์อยู่ที่ 5.6% ในช่วงปี 2553-2557 ซึ่งคำถามที่สำคัญอยู่ที่ว่าประเทศไทยจะสามารถสร้างอัตราการเติบโตที่มากขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งอาจต้องอาศัยการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างเพื่อกระตุ้นการเติบโต เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำเป็นความท้าทายที่กลุ่มธุรกิจประกันของไทยกำลังเผชิญ ในขณะเดียวกัน ธุรกิจประกันชีวิตของไทยก็ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านอื่นๆ เช่นเดียวกันกับที่ธุรกิจประกันชีวิตในภูมิภาคเผชิญ นายเจฟฟรี่ ลิ่ว หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตธุรกิจประกัน ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของฟิทช์กล่าว นายลิ่วได้ให้ความเห็นว่าในอนาคตธุรกิจประกันชีวิตทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงประเทศไทย จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป กฎเกณฑ์ข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้น และการปรับสัดส่วนการลงทุน บริษัทประกันชีวิตบางรายมองว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นโอกาสในการสร้างสถานะทางการตลาดของตนให้เข้มแข็ง การทบทวนกลยุทธ์ทางธุรกิจอาจเป็นหัวใจสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของตนไว้ นายแอมบรีช ศรีวาสตา หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของฟิทช์ กล่าวว่าสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคยังคงเป็นความท้าทายสำหรับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งได้แก่ ความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินเชื่อ การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือน และความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศจีนที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารในภูมิภาคส่วนใหญ่มีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง และน่าจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตที่มีเสถียรภาพของธนาคารส่วนใหญ่ในภูมิภาค ธนาคารของไทยก็เช่นเดียวกัน มีการเพิ่มความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในระดับที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งเห็นได้จากการดำรงเงินกองทุนและเงินสำรองของธนาคาร เศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมามิได้ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มาก และธนาคารในประเทศน่าจะรักษาเสถียรภาพไว้ได้ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวตามวัฏจักรปกติ ในเวทีเสวนามีการสนทนาในประเด็นเรื่องศักยภาพทางเศรษฐกิจและตลาดทุนของประเทศไทย โดยมีดร. กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก นายยิ่งยง นิลเสนา รองเลขาธิการ กลุ่มงานบริหารเงินกองทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และนายอนุชา เหล่าขวัญสถิตย์ ผู้จัดการทั่วไปและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน บริษัท เอไอเอ จำกัด เข้าร่วมการเสวนา โดยมีนายวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการเสวนา งานสัมมนาครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจและการเงิน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานของรัฐ เข้าร่วมงานมากกว่า 300 คน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ