“ไทย”เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือด้านวัคซีนครั้งแรก!!ของภูมิภาคอาเซียน

ข่าวทั่วไป Wednesday October 1, 2014 17:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--โฟร์พีแอดส์ “ไทย”เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือด้านวัคซีนครั้งแรกของภูมิภาคอาเซียน เปิดเวทีระดมความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนจากประเทศสมาชิก ร่วมกันแสวงหาโอกาสและแนวทางการพัฒนาวัคซีนตามวงจรทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการวิจัยพัฒนา การผลิต การควบคุมกำกับคุณภาพ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เสริมความเข้มแข็งให้ภูมิภาคอาเซียน เดินหน้าสู่ความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนได้อย่างยั่งยืน นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลาที่ปรึกษา รมว.และรมช.กระทรวงสาธารณสุขกล่าวหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้หัวข้อ“โอกาสของการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนในอาเซียน” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเคปพันวาภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตระหว่างวันที่ 1-3 ตุลาคม 2557 ว่าการจัดประชุมครั้งนี้ริเริ่มโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติและการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกถือเป็นครั้งแรกของภูมิภาคอาเซียนที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือด้านวัคซีนระหว่างประเทศสมาชิกภูมิภาคอาเซียน และชี้ให้ผู้เข้าประชุมเห็นถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงและการพึ่งตนเองด้านวัคซีนในระดับภูมิภาค รวมทั้งการเปิดเวทีระดมความคิดเห็นระหว่างประเทศสมาชิก ร่วมกันมองหาลู่ทาง แสวงหาโอกาสและแนวทางการพัฒนาวัคซีนซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนของภูมิภาคได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านวัคซีนจากทุกภาคส่วนในภูมิภาคอาเซียนจะได้ทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน รวมทั้งร่วมกันหารือและแสวงหาความร่วมมือกันต่อไป ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนจากหลากหลายสาขาในวงจรวัคซีน(Vaccine Life Cycle) จากประเทศไทย ประเทศในภูมิภาคอาเซียนและจากนานาชาติ โดยเป็นผู้แทนจากหน่วยงานนโยบายและผู้ปฏิบัติงาน จากภาครัฐภาคเอกชน เอ็นจีโอ มหาวิทยาลัย จากภาคการวิจัยพัฒนา หน่วยงานผู้ผลิต ผู้ทำหน้าที่ด้านประกันและควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีน รวมถึงผู้แทนด้านการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ร่วมเป็นวิทยากรและแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินงานด้านวัคซีน อาทิ ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก สถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI), เครือข่ายผู้ผลิตวัคซีนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา(DCVMN), เครือข่ายอาเซียนนวัตกรรมด้านยา วัคซีน การแพทย์ทางเลือกและเครื่องมือสำหรับการวินิจฉัยโรค (ASEAN-NDI)รวมถึงผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์กล่าวต่ออีกว่า“วัคซีน”เป็นเครื่องมือในการควบคุมป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในปัจจุบัน แต่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกรวมทั้งประเทศในภูมิภาคอาเซียนต้องประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีนที่จำเป็นต้องใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทั้งในภาวะปกติและในภาวะที่มีการระบาดของโรค ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนนอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนและต่อระบบบริหารจัดการสุขภาพโดยรวมของประเทศแล้ว ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการระบาดของโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค ถึงแม้หลายประเทศในอาเซียนจะมีศักยภาพในการวิจัยพัฒนาและสามารถผลิตวัคซีนได้เอง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขาดแคลนในระดับประเทศได้ เพราะมีจุดอ่อนหลายประการแตกต่างกัน “การสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน จึงไม่ได้หมายถึงแค่การมีงบประมาณจัดซื้อวัคซีนให้เพียงพอต่อการนำมาใช้เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมมิติต่างๆเชื่อมโยงตามวงจรวัคซีน เริ่มตั้งแต่กระบวนการวิจัยพัฒนา การผลิต การควบคุมกำกับคุณภาพและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งวงจรวัคซีนทั้ง 4 ด้านต่างมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน ดังนั้นหากร่วมมือกันได้จะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศและภูมิภาค อันจะนำไปสู่ความมั่นคงด้านวัคซีนและสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวต่อไป” ด้านดร.นายแพทย์จรุง เมืองชนะผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ(องค์การมหาชน)หรือสวช.กล่าวว่า แม้ขณะนี้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคจะช่วยลดอุบัติการณ์หรือความชุกของการเกิดโรค จนสามารถกำจัด กวาดล้างโรคติดเชื้อบางโรคได้สำเร็จ แต่ยังคงมีโรคติดเชื้ออีกหลายโรคแม้จะสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ก็ยังคงมีอยู่และเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่ในแต่ละปีคร่าชีวิตประชาชนทั่วโลกนับล้านคนซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน หรือในพื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนวัคซีน “ในวาระที่ประเทศในประชาคมอาเซียนจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในปี 2558 นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่อาเซียนจะได้หันหน้าเข้าหารือกันเพื่อเผชิญกับความท้าทาย ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าภูมิภาคเกิดใหม่อย่างอาเซียนที่มีประชากรราว 600 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 9 ของประชากรโลกจะร่วมมือกันเพื่อเอาชนะปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนหรือการขาดแคลนวัคซีนให้ได้ เพราะการพัฒนาวัคซีนจะมีความคุ้มทุนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดการแข่งขันกันเอง การร่วมวางแผนพัฒนาวัคซีน ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ร่วมแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ และเป็นโอกาสสำคัญที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็งด้านวัคซีนมากยิ่งขึ้น” ดร.นายแพทย์จรุงยังกล่าวด้วยว่าสถาบันวัคซีนแห่งชาติโดยการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกจึงได้ริเริ่มจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นเวทีสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนในภูมิภาคและนานาชาติ พูดคุยแสวงหาโอกาสในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาไปสู่ความมั่นคงด้านวัคซีนของภูมิภาคอาเซียน ตามวงจรวัคซีนทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการวิจัยพัฒนา การผลิต การควบคุมกำกับคุณภาพ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะเป็นการสร้างความเข้าใจให้ประเทศสมาชิกได้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีน โดยจะจัดให้มีการอภิปรายกลุ่มย่อยเพื่อหารือถึงรายละเอียดในประเด็นสำคัญต่างๆ เพื่อร่วมกันกำหนดกรอบแนวทาง การขับเคลื่อนดำเนินงานสร้างความร่วมมือเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนของภูมิภาคอาเซียนได้อย่างยั่งยืนต่อไป ในขณะที่ดร.โยนาส เทคเกค์นผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยกล่าวว่า “ ผมรู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน และได้สัมผัสถึงความมุ่งมั่นของบรรดาผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ในการแสวงหาแนวทางความร่วมมือเพื่อยกระดับความมั่นคงด้านวัคซีนในภูมิภาค อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองในระยะยาว” สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การมหาชน โทรศัพท์: 02-5903196-9 หรือ www.nvco.go.th
แท็ก อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ