ปภ.เตือน 20 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มในช่วงวันที่ 4 – 7 ตุลาคม 2557

ข่าวทั่วไป Thursday October 2, 2014 13:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งเตือน 20 จังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 4 – 7 ตุลาคม 2557 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อม เผชิญเหตุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตามลำดับ ขณะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงเป็นช่วงๆ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ตอนกลาง ซึ่งมีโอกาสเพิ่มกำลังแรงขึ้น ทำให้ในช่วงวันที่ 4 – 7 ตุลาคม 2557 ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกชุกเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยคลื่นลมบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูง เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสาน 20 จังหวัด แยกเป็น ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 14 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ที่ลาดเชิงเขา จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก หากไม่มั่นคงแข็งแรงและเป็นอันตรายให้อพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัยทันที สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ