เอฟทีเอ ว็อทช์ ยังกัดติด ร่าง พรบ.ศุลกากร หลังกรมศุลกากรชี้แจงการจับยึดสินค้าผ่านแดน-ถ่ายลำทำได้ตามกฎหมาย 12 ฉบับในปัจจุบันเท่านั้น

ข่าวทั่วไป Thursday October 2, 2014 13:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--เอฟทีเอ ว็อทช์ ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่าง พรบ.ศุลกากร (ฉบับที่...) พ.ศ...วาระแรกโดยเพิ่มมาตรา 58/1 ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจสอบ ตรวจค้นของที่นำเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำที่อยู่ในยานพาหนะ คอนเทนเนอร์ หรือหีบห่ออย่างอื่น ตามที่อธิบดีกำหนด โดยไม่ต้องมีหมายค้น หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ โดยมีวงเล็บ (3) กว้างๆไว้ว่า ของนั้นเป็นของที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นช่องทางให้อุตสาหกรรมยาข้ามชาติใช้กลไกนี้ในการไล่จับและทำลายยาชื่อสามัญอย่างไม่ยุติธรรมนั้น นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.ศุลกากร ที่มีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน ได้ให้กรมศุลกากรไปหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทางกรมศุลกากรยืนยันว่า มาตรา 58/1 ที่ให้อำนาจพนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจสอบ ตรวจค้นของที่นำเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำตามกฎหมาย 12 ฉบับที่ให้อำนาจอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆที่ไม่ได้อนุญาตไว้ “ในการหารือร่วม ทางนิติกรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ย้ำถามหลายครั้ง กฎหมายไทยเป็นไปตามความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก ที่ไม่รวมถึงการถ่ายลำและผ่านแดย แม้แต่ พรบ.เครื่องหมายการค้า ก็อนุญาตให้ตรวจยึดแค่การนำเข้าและส่งออกเท่านั้น ซึ่งกรมศุลกากรก็ได้ยืนยัน ดังนั้น เราจะรอดูรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะส่งกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติวาระ 2-3 ที่ต้องระบุเรื่องนี้อย่างชัดเจน เพราะกฎหมายเมื่อตราออกมาแล้ว การจะย้อนกลับไปดูเจตนาและความครอบคลุมจำเป็นต้องอ้างอิงรายงานคณะกรรมาธิการซึ่งเรื่องสำคัญเช่นนี้ต้องระบุไว้ ไม่ควรปล่อยให้ อุตสาหกรรมยาข้ามชาติใช้กลไกนี้ในการไล่จับและทำลายยาชื่อสามัญอย่างไม่ยุติธรรม” ทั้งนี้กฎหมายทั้ง 12 ฉบับที่มีสาระให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบ ตรวจค้น สินค้าถ่ายลำและผ่านแดน ในขณะนี้ตามข้อมูลของกรมศุลกากร ประกอบไปด้วย พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507, พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499, พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์, พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ.2590, พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518, พ.ร.บ.ควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์และสิ่งที่ใช้ในการสงคราม พ.ศ.2495, พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530, พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518, พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522, พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ เรียกร้องให้ สนช.ช่วยกันตรวจสอบด้วย เพราะหากปล่อยกฎหมายให้มีช่องโหว่เช่นนี้ จะทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ทั่วโลก และทำร้ายผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาไปพร้อมๆกัน ดังที่เกิดขึ้นแล้วในสหภาพยุโรป ที่มีการยึดจับยารักษาโรคช่วยชีวิตที่ส่งจากอินเดียจะไปประเทศกำลังพัฒนาปลายทางมากถึง 18 ครั้ง ทั้งที่ไม่ได้ละเมิดกฎหมาย โดยไม่สนใจว่าผู้ป่วยที่รอคอยยารักษาโรคที่ปลายทางจะเป็นเช่นไร ทั้งนี้ จากงานวิจัยเรื่องผลกระทบจากข้อเสนอในความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยและประเทศคู่ค้าต่อการสาธารณสุข: ประเด็นผลกระทบด้านมาตรการ ณ จุดผ่านแดน และการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดย ดร.คมน์ธนงชัย ฉายไพโรจน์ และคณะ ซึ่งเอฟทีเอ ว็อทช์ได้มอบให้คณะกรรมาธิการวันนี้ ระบุว่า สําหรับมาตรการ ณ จุดผ่านแดนเกี่ยวกับการยึดสินค้าละเมิดสิทธิบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิบัตรยา หรือเวชภัณฑ์ด้านสาธารณสุขนั้น ปัจจุบันในกฎหมายศุลกากรยังไม่มีบทบัญญัติหรือข้อกําหนดใดๆ ที่ให้อํานาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรทําการยึดจับกุมยาหรือเวชภัณฑ์ที่ละเมิดหรือสงสัยว่าจะละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้โดยตรงและเป็นเอกเทศ หากกรมศุลกากรต้องการเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่ออํานวยความสะดวกในการตรวจสอบสินค้าไม่ควรเกี่ยวโยงกับประเด็นสิทธิบัตร เนื่องจาก ในการที่จะพิจารณาว่าเป็นของปลอมหรือละเมิดสิทธิบัตรไม่นั้น ทําได้ยาก ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและกระบวนการพิสูจน์ที่ซับซ้อน จึงมีข้อเสนอในการปรับแก้กฎหมายศุลกากรควรยึดหลักการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยมิให้มีผลกระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงยา และไม่เป็นการบั่นทอนโอกาสในการมีสุขภาพดี และผลประโยชน์ด้านสุขอนามัยด้านอื่นๆ ของคนในประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ