ผลสำรวจแมนูไลฟ์เผย นักลงทุนเอเชียระบุ “เงินบำนาญฉันจะไม่พอใช้”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 2, 2014 14:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ - นักลงทุนเกือบ 9 ใน 10 ในฮ่องกงและญี่ปุ่นไม่เชื่อมั่นบำนาญภาคบังคับ - เมื่อขาดความเชื่อมั่น จึงเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบบ - นักลงทุนเอเชียเพียง 1 ใน 5 ซื้อแผนเกษียณภาคสมัครใจ - เอเชียเป็นแหล่งนักลงทุนประเภท “บริหารด้วยตัวเอง” นักลงทุนส่วนใหญ่ขาดคำปรึกษาจากมืออาชีพ ผลสำรวจใหม่จากแมนูไลฟ์ชี้ว่า นักลงทุนเอเชียไม่เชื่อว่า เงินบำนาญภาคบังคับจะพอใช้หลังเกษียณ และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบบำนาญ[1] แม้ว่าเงินบำนาญนั้นเป็นสิ่งที่คาดว่าจะเป็นแหล่งรายได้หนึ่งในสามลำดับแรกภายหลังเกษียณ แต่เมื่อสอบถามนักลงทุนถึงความเชื่อมั่นว่าเงินบำนาญภาคบังคับจะพอใช้ภายหลังเกษียณหรือไม่ จะมีนักลงทุนเพียงร้อยละ 38 ที่ตอบชัดเจนว่า “เชื่อมั่น” ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น นั่นคือความกังวลว่าเงินออมตามแผนจะไม่เพียงพอแก่การใช้จ่ายภายหลังเกษียณ (คิดเป็นร้อยละ 43) อีกทั้งนักลงทุนยังคงกังวลว่า ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนอาจต่ำเกินไป และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะได้รับเงินจากแผนเท่าใดเมื่อเกษียณแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ ตลาดที่ต้องพึ่งพาแผนเกษียณภาคบังคับมากที่สุดกลับมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำสุด โดยในฮ่องกงและไต้หวัน นักลงทุนคาดว่า เงินบำนาญภาครัฐหรือที่นายจ้างจัดให้จะคิดเป็นร้อยละ 18 ของรายได้ภายหลังเกษียณ ในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่และญี่ปุ่นตัวเลขจะสูงขึ้นไปอีก อยู่ที่ร้อยละ 30 และ 31 ตามลำดับ แต่สิ่งที่มาพร้อมกับการพึ่งพานั่นคือความไม่มั่นคง นักลงทุนในฮ่องกงและญี่ปุ่นเกือบ 9 ใน 10 ระบุว่าไม่เชื่อมั่นในระบบบำนาญภาคบังคับ ขณะที่ในไต้หวันมีตัวเลขอยู่ที่ 7 ใน 10 หรือแม้แต่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีประวัติการให้สวัสดิการภาครัฐแก่บุคคลวัยเกษียณอย่างกว้างขวางยาวนานก็ยังพบว่ามีนักลงทุนเกือบ 3 ใน 5 ที่ยังขาดความเชื่อมั่นเช่นกัน นักลงทุนเรียกร้องเปลี่ยนแปลงระบบบำนาญ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนทุกตลาดในเอเชียเรียกร้องให้ปรับปรุงระบบบำนาญภาคบังคับ โดยหัวข้อที่ถูกเรียกร้องมากที่สุด คือ การให้การศึกษามากขึ้นในเรื่องการวางแผนเกษียณ (คิดเป็นร้อยละ 65) นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่ขอให้เปลี่ยนแปลง ได้แก่ ความยืดหยุ่นมากขึ้นในการถอนเงินก่อนการเกษียณ และเพิ่มทางเลือกที่มากขึ้นในการลงทุน อีกทั้งนักลงทุนยังแสดงให้เห็นว่าต้องการให้เพิ่มเงินภาคสมทบ โดยที่ส่วนใหญ่ระบุว่าภาระการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำนาญที่เพิ่มขึ้นนั้นควรตกแก่ภาครัฐหรือนายจ้าง (คิดเป็นร้อยละ 60) และมีเพียงส่วนน้อยที่ระบุว่า ตนเองควรรับภาระดังกล่าว (คิดเป็นร้อยละ 30) “บำนาญภาคบังคับมักจะเป็นประสบการณ์แรกของนักลงทุนในเรื่องการบังคับออมเงินเพื่ออนาคต จึงมีกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจลักษณะและสิทธิประโยชน์ตามแผนภาคบังคับ” นายโรเบิร์ต เอ. คุก ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Manulife Asia กล่าว “การที่นักลงทุนตระหนักว่าจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการวางแผนเกษียณเป็นสิ่งที่ดี เราสนับสนุนให้นักลงทุนทุกคนรับผิดชอบตัวเองมากขึ้นในด้านการวางแผนเกษียณและวางแผนหาแหล่งรายได้อื่นๆ มาจุนเจือยามเกษียณ และเงินบำนาญภาครัฐเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่อย่างที่นักลงทุนทราบดีว่าแค่เพียงเท่านั้นยังไม่พอ” นักลงทุนเอเชียเพียงเล็กน้อยซื้อแผนบำนาญภาคสมัครใจ การขาดความกระตือรือร้นของนักลงทุนยิ่งเห็นได้ชัดในส่วนบำนาญภาคเอกชน โดยนักลงทุนเอเชียเพียง 1 ใน 5 ระบุว่าซื้อแผนบำนาญหรือเกษียณภาคสมัครใจไว้แล้ว นักลงทุนเอเชียกลับคาดหวังที่จะใช้รายได้จากแหล่งอื่นระหว่างเกษียณ รวมทั้งเงินออม (คิดเป็นร้อยละ 26) และผลตอบแทนจากสินทรัพย์ลงทุนประเภทอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ (คิดเป็นร้อยละ 16) นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนเอเชียยังขาดการบริหารพอร์ตการลงทุนของตนไปในทิศทางที่จะสร้างผลตอบแทนที่ต้องการ โดยมีเพียง 1 ใน 3 ที่ระบุว่าทบทวนพอร์ตการลงทุน ไตรมาสละครั้ง อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ก็ยังเกิดขึ้นน้อยมาก “การที่มีแผนบำนาญภาคสมัครใจค่อนข้างน้อยและความรู้สึกว่าแผนที่ภาครัฐจัดให้จะไม่เพียงพอ ส่งผลให้นักลงทุนมองหาแหล่งรายได้อื่น ๆ หลังเกษียณ" นางดอนนา คอตเตอร์ หัวหน้าฝ่ายบริหารความมั่งคั่ง Manulife Financial ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าว “แต่นักลงทุนต้องมั่นใจด้วยว่า รายได้แหล่งอื่น ๆ ที่ตนพึ่งพาอยู่นั้น จริง ๆ แล้วจะสร้างผลตอบแทนตามที่ตนคาดหวังหรือไม่ โดยที่ระดับความเสี่ยงไม่สูงเกินไป และต้องมั่นใจด้วยว่าตนกำลังบริหารพอร์ตการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงและจะตอบสนองความต้องการของตนด้วย” การวางแผนการเงินแบบ “บริหารด้วยตัวเอง” ได้รับความนิยม ผู้ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญมีสัดส่วนเพียงครึ่งหนึ่งของสหรัฐ นักลงทุนเอเชียแสดงความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของตนเองในเรื่องการวางแผนเกษียณ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 55) ยอมรับว่าไม่เข้าใจแผนบำนาญภาครัฐ อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 25 ที่ขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษาการเงินมืออาชีพ ซึ่งเป็นตัวเลขเพียงครึ่งหนึ่งของตัวเลขในสหรัฐ[2] ทั้งนี้ นักลงทุนเอเชียโดยส่วนใหญ่ (คิดเป็นร้อยละ 60) พอใจในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้วยตนเองและยังขาดข้อมูลจากมืออาชีพในวงการ เช่น ที่ปรึกษาการเงิน ตัวแทนประกันชีวิต หรือเจ้าหน้าที่ธนาคาร ผลสำรวจยังชี้ว่า ญี่ปุ่นมีสัดส่วนของนักลงทุนประเภทบริหารด้วยตัวเองสูงสุด (คิดเป็นร้อยละ 76) และในอินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงไต้หวันต่างก็มีตัวเลขสูงกว่าร้อยละ 50 เช่นกัน แต่ในทางกลับกัน นักลงทุนเกือบ 3 ใน 4 ของภูมิภาคนั้นอาศัยคำปรึกษาในการวางแผนการเงินจากครอบครัว เพื่อนฝูง และเพื่อนร่วมงาน ในขณะที่นักลงทุนที่ใช้ข้อมูลจากสื่อมวลชนมีไม่ถึงครึ่ง “เช่นเดียวกับการวางแผนแบบบริหารด้วยตัวเองนั้นจะเหมาะสมต่อเมื่อคุณมีความรู้ เครื่องมือ และเวลาที่จะใช้วางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากไม่มี คุณอาจต้องพบผลลัพธ์ที่น่าผิดหวังหรือต่ำกว่าเกณฑ์” นางดอนนา คอตเตอร์ หัวหน้าฝ่ายบริหารความมั่งคั่ง Manulife Financial ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าว “นักลงทุนมีความรู้ทางการเงินหลากหลายระดับและมักจะรู้ทางเลือกในการลงทุนเพียงไม่กี่ทางเลือก ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงยิ่งขึ้นที่จะคำนวณผิดพลาดหรือมองข้ามผลิตภัณฑ์ลงทุนที่อาจเหมาะสมที่สุดกับตน และการใช้เวลาตรวจสอบรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนกับมืออาชีพนั้นไม่ถือเป็นเรื่องเสียเวลาเลย” สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนแมนูไลฟ์ในเอเชีย กรุณาเยี่ยมชม www.manulife-asia.com [1] ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนแมนูไลฟ์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2557 [2] ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนแมนูไลฟ์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2556

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ