สกย.เปิดบ้าน ต้อนรับคณะผู้บริหารระดับสูง และนักธุรกิจยาง เมียนมาร์ ลงพื้นที่ส่งเสริมยางพาราทั้งระบบของไทย

ข่าวทั่วไป Monday October 20, 2014 12:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--สกย. สกย.เปิดบ้าน ต้อนรับคณะผู้บริหารระดับสูง และนักธุรกิจยาง เมียนมาร์ลงพื้นที่ส่งเสริมยางพาราทั้งระบบของไทย หวัง หาแนวทางพัฒนาคุณภาพยางร่วมกันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางในฐานะประเทศผู้ผลิต เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สกย.ได้ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารระดับสูง และนักธุรกิจยางจากประเทศพม่า นำโดย การประสานงานการให้ความร่วมมือจาก JICA หน่วยงานพัฒนาระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีคณะผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมส่งเสริมธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ และกรมพัฒนาพืชอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและชลประทาน ประเทศพม่า รวมทั้ง สมาคมผู้ปลูกยางและผลิตยางประเทศพม่า เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบของพม่า โดยเฉพาะการปรับปรุงคุณภาพยาง ให้ได้มาตรฐาน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางร่วมกันในกลุ่มประเทศผู้ผลิต นายทรงธรรม จั่นทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านการเกษตร สกย. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ระบบการส่งเสริมให้การสงเคราะห์ปลูกยางในประเทศไทยที่ทำให้ยางพาราไทยสามารถก้าวสู่ความสำเร็จในเวทีโลกได้ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ โปรแกรมการสงเคราะห์เพื่อการปลูกแทน โดยมีระบบการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีเงินทุนในการปลูกยางพันธุ์ดี มีคุณภาพ การมีระบบการจ่ายวัสดุการสงเคราะห์ เช่น ปุ๋ย และพันธุ์ยางที่ดีให้ผลผลิตสูง เป็นต้น และที่สำคัญ คือ การให้ความรู้แก่เกษตรกร จากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในการส่งเสริมการปลูกแทน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นที่ระบบเงินสงเคราะห์ยังไม่เพียงพอต่อการให้การสงเคราะห์ ทั้งเจ้าหน้าที่ และเกษตรกรชาวสวนยาง จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกันแบบคู่ขนาน เพื่อผลักดันให้การปลูกยาง การดูแลสวนยางมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อความคุ้มค่าแก่การลงทุนของเจ้าของสวนยางแต่ละราย ทั้งนี้ ปัจจุบัน เกษตรกรชาวสวนยางไทย เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์เรื่องการปลูกยาง และสามารถผลักดันตนเองสู่ความสำเร็จได้ “สกย.มีความยินดี และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทางพม่าในด้านการให้ความรู้การส่งเสริมการปลูกยางพารา ในฐานะที่เราเป็นประเทศผู้ผลิต โดยเราจะต้องร่วมมือกันในการจัดการผลผลิตให้ไปสู่คุณภาพที่ดี และควรมีการรวมตัวของผู้ผลิตยางทั้งโลกให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันให้ได้ และให้ภูมิใจว่าการปลูกยางพาราเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับโลกเราด้วย ไม่เพียงแต่ช่วยในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น” Prof.Koichi Fujita Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University ในฐานะที่ปรึกษา เป็นผู้แทนจาก JICA กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนจาก JICA ซึ่งมีภารกิจในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบทเพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศโลกที่ 3 โดยการมาประสานงานกับ สกย.ในครั้งนี้ นำคณะผู้บริหารจากกรมส่งเสริมธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ และกรมพัฒนาพืชอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและชลประทาน รวมทั้งที่ปรึกษาจากสมาคมผู้ปลูกยางและผลิตยางจากประเทศพม่า เพื่อลงพื้นที่ศึกษาดูงานการพัฒนายางพาราในด้านต่างๆ ของประเทศไทยทั้งระบบ โดยผลการศึกษาตลอดทั้ง 6 วันที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกย.ในการประสานงาน ทำให้เห็นถึงจุดเด่นในการพัฒนายางพาราของไทยในด้านต่างๆ ได้แก่ การจัดการผลผลิต เช่น ระบบการรับรองการจัดการพันธุ์ยางจากสถาบันวิจัยยาง ปุ๋ย ที่มีระบบการตรวจสอบที่ดี เน้นเรื่องคุณภาพ และเทคโนโลยีการกรีดยางที่เกษตรกรจะได้รับการอบรมจาก สกย. รวมทั้ง การให้ครูยางเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรด้วยกันเอง เพื่อให้ได้คุณภาพ กระบวนการผลิต เช่น การผลิตจากน้ำยางไปเป็นยางแผ่นดิบ ประเทศพม่ายังมีการใช้กรดซัลฟิวริกผสมในน้ำยางที่ยังไม่เหมาะสมทำให้คุณภาพยางต่ำ และมีการผสมสิ่งแปลกปลอมในน้ำยาง ความหนาของแผ่นยางค่อนข้างหนา ต่างจากประเทศไทยที่สนับสนุนเรื่องการส่งเสริมการแปรรูปได้ดีมาก ด้านการตลาด เกษตรกรพม่าซื้อขายยางกับพ่อค้าโดยตรง ทำให้ถูกกดราคา ต่างกับประเทศไทยที่ สกย.ได้มีการส่งเสริมตลาดยางระดับท้องถิ่น รวมไปถึงการมีระบบตลาดกลางที่จะเป็นราคาอ้างอิงได้ ด้านการส่งออก ไทยและพม่ามีตลาดส่งออก ซึ่งเป็น จีน ญี่ปุ่น และยุโรปเหมือนกัน แต่ระบบการส่งออกของไทยมีการออกใบรับรองมาตรฐานจากภาครัฐ เช่น การลงทะเบียน และการออกใบรับรอง RRIT เป็นต้น ทำให้สินค้ามีมาตรฐาน ส่งผลให้ราคาสินค้าได้ราคาดี และระบบ Cess เป็นระบบที่ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้มีค่าใช้จ่ายในช่วงเริ่มต้นของการปลูกแทน ทำให้สวนยางได้มาตรฐานและมีผลผลิตที่ดีตามมา รวมถึงยังมีแหล่งเงินต่างๆ มากมาย ในขณะที่พม่า ยังไม่ค่อยสนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อปลูกยาง โดยส่วนมากพม่าจะปล่อยเงินกู้ให้กับการทำนาเท่านั้น Mr.U Hla Myint ที่ปรึกษาสมาคมผู้ปลูกยางและผลิตยางประเทศพม่า กล่าวว่า การมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อที่จะศึกษาระบบชำระเงินสงเคราะห์ของไทย (Cess) ที่มีการจัดการ โดย สกย. และศึกษากระบวนการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย เพื่อนำเอารูปแบบการพัฒนาและการจัดการด้านยางพาราของประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จไปประยุกต์ใช้ในประเทศพม่า โดยริเริ่มจากการจัดตั้งองค์การเกี่ยวกับยางพาราในพม่า ด้วยจากการที่พม่าได้มีนโยบายการส่งเสริมการค้าแบบเสรีทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนปัจจัยด้านต่างๆ ให้แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบัน ประเทศพม่า มีพื้นที่ปลูกยางพารา ประมาณกว่า 3.3 ล้านไร่ ส่วนมากเป็นพื้นที่ปลูกที่มีอาณาเขตติดกับประเทศไทย ได้แก่ รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และเขตตะนาวศรี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 122 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และส่งออกประมาณ 86,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,900 ล้านบาท ในอนาคตคิดว่า การพัฒนาระบบยางพาราของประเทศพม่า ภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุนการปลูกยางพารา และการประกอบกิจการยางกับเกษตรกรและภาคเอกชนในประเทศ เพื่อให้มีคุณภาพที่ดี และมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ผลิต จะช่วยให้เกิดการพัฒนายางพาราในภูมิภาคอาเซียน เพื่อยกระดับและรักษาคุณภาพยางพาราให้มีมาตรฐาน จะนำไปสู่การรักษาเสถียรภาพราคายางร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรชาวสวนยาง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ