ตามรอยผ้าทอพื้นเมืองน่าน จากอดีตสู่รูปแบบร่วมสมัย วิถีชีวิตที่ไม่จางหาย – อพท. หนุนผลิตเป็นสินค้าที่ระลึกทางการท่องเที่ยว

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday October 21, 2014 17:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--แบงค์คอก ไรเตอร์ คนไทยเราคุ้นหูกันกับคำว่า “ผ้านุ่ง” และ “ผ้าห่ม” แต่หากเจาะลึกลงไปถึงที่มาของสองคำนี้จะมีกี่คนที่ตอบได้ ทั้งนี้คำทั้งสองสามารถสะท้อนวิถีชีวิตคนไทยทั้งหญิงและชายในอดีตได้อย่างชัดเจน “ผ้านุง” คือผ้าที่ใช้สำหรับปกปิดส่วนล่างของร่างกาย ส่วน “ผ้าห่ม” ใช้ปกปิดส่วนบนของร่างกาย จังหวัดน่าน เมืองเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในอดีตเป็นเมืองหน้าด่าน ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ จวบจนปัจจุบันก็ยังมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมวิถีชีวิตดั้งเดิม และโบราณสถาน วิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของเมืองน่านคือการทอผ้า ผ้าทอพื้นเมืองน่านมีชื่อเสียงมายาวนาน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป นำมาซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ทำให้ปัจจุบันเราเห็นการทอผ้าไว้ใช้เองน้อยมาก อาชีพการทอผ้าเริ่มเลือนหาย ส่วนที่ยังทำกันอยู่ก็ไม่จูงใจให้ยึดเป็นอาชีพนิยม ด้วยความคิดที่ว่าหากหันไปทำงานอย่างอื่นจะได้เงินที่มากกว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555 คณะรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้น่านเป็นพื้นที่พิเศษ ดูแลรับผิดชอบ โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ครอบคลุม 1 อำเภอ 5 ตำบล ประกอบด้วย อำเภอเมืองน่าน ตำบลในเวียง ตำบลบ่อสวก ตำบลนาซาว ตำบลม่วงตื้ด และตำบลดู่ใต้ พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. เห็นความสำคัญในอัตลักษณ์การทอผ้าเมืองน่าน และต้องการสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้คนเมืองน่านได้เห็นความสำคัญของการทอผ้าที่อยู่คู่เมืองน่านมานานนับร้อยปี ให้คงอยู่และใช้เป็นอาชีพทำมาหากินได้อย่างยั่งยืน จึงมีแนวคิดเพิ่มมูลค่าผ้าน่านในรูปแบบต่างๆ เริ่มตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย เป้าหมายให้ผ้าทอพื้นเมืองน่านเป็นของฝากของที่ระลึกได้กับทุกเพศวัย และยังช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชนชาวบ้านและหนุ่มสาวให้กลับมาทอผ้า คงวิถีชีวิตของตัวเองอีกครั้ง ตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแบบครบวงจรโดยชุมชนมีรายได้เพิ่มจากผลิตภัณฑ์และบริการทางการท่องเที่ยว ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ ผู้จัดการพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน อพท. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจอัตลักษณ์เมืองน่าน เราได้เห็นวิถีชีวิตบางอย่างที่กำลังจะเลือนหาย คือการทอผ้าพื้นเมือง สืบเนื่องจากทำรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ ชาวบ้านจึงหันไปประกอบอาชีพอื่น ขณะที่คนหนุ่มสาวก็เข้าเมืองไปทำงาน ทั้งที่ผ้าทอพื้นเมืองน่านเป็นวัฒนธรรมที่จับต้องได้ และบ่งบอกความเป็นอัตลัตลักษณ์ได้ชัดเจนจากลายผ้า ซึ่งที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น ผ้าทอลายน้ำไหล ปีงบประมาณ 2557 อพท. ได้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับผ้าน่าน 2 โครงการ คือ โครงการ “เดินหน้า ผ้าน่าน เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” เชิญ ดร.นิตถาคง สมสนิท ปรึกษาด้านวัฒนธรรมให้กับโรงแรมในกลุ่มอามัน (Aman Resorts) และผู้เชี่ยวชาญงานปักผ้าด้วยเส้นใยทองคำแบบราชสำนักหลวงพระบาง มาให้ความรู้แกชุมชนชาวบ้านในเรื่องของการปักดิ้นทองลงไปบนผ้าฝ้ายทอเมืองน่าน เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าผ้าน่านต่อผืนให้มีราคาสูงขึ้น เป็นของที่ระลึกระดับไฮเอนด์ นอกจากนั้นยังร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เริ่มจากกระบวนการผลิต ตั้งแต่การปั่นฝ้าย การย้อมผ้า ที่ต้องใช้สีจากธรรมชาติเท่านั้น และการนำลวดลายและดอกที่เป็นอัตลักษณ์ของผ้าทอพื้นเมืองน่านมาจัดเรียงใหม่ให้ดูทันสมัยขึ้นแต่ยังคงไว้ซึ่งลวดลายโบราณ ขณะเดียวกันยังเพิ่มเสน่ห์ ด้วยการนำนวัตกรรมผ้าหอม มาใช้กับผ้าทอ เพิ่มเสน่ห์แก่ผู้สวมใส่ หรือนำผ้าไปตัดเย็บเพื่อใช้งานอื่นๆ พร้อมเปิดตัว “เส้นทางยกระดับผ้าทอพื้นเมืองน่าน” สำหรับปี 2558 จะขยายผลจากโครงการนี้นำเสนอผ้าทอพื้นเมืองน่านยุคใหม่ ออกทำการตลาด เป็นของฝากของที่ระลึกจากผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ มากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ