ชี้แจงข้อมูลกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ลงโทษปลด คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน

ข่าวทั่วไป Monday November 3, 2014 15:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--สำนักงาน ป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อสื่อมวลชน กรณี ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ลงโทษปลดคุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร ออกจากราชการ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง กรณีการจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร โดยศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของคุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน เป็นเพียงความบกพร่องใน การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมิใช่เป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีอำนาจไต่สวน นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วย และจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อ ศาลปกครองสูงสุดต่อไป นายสรรเสริญ พลเจียก ชี้แจงอีกว่า การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เดินตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่ามีความผิดทางวินัย ฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง โดยอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องนี้ ได้รับการยืนยันโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวคือ ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ อม. ๕/๒๕๕๒ ระหว่าง ร้อยตำรวจโท เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ กับพวกรวม ๑๓๔ คน ผู้ร้อง นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ที่ ๑ กับพวกรวม ๙ คน ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าคนชี้มูลความผิดทางวินัยแก่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกคำขอ โดยวินิจฉัยว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อกล่าวหาจากสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหายังไม่พอฟังว่ามีมูลความผิดทางอาญา คงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่เบากว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจที่จะรับฟังข้อเท็จจริงตามมูลฐานดังกล่าวมาพิจารณาวินิจฉัยชี้มูลความผิดฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ