การประชุม กกร. วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 6, 2014 13:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 องค์กร (กกร.)ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย กกร.ได้มีการประชุมสรุปภาวะเศรษฐกิจล่าสุด พบว่าเศรษฐกิจบางส่วนมีสัญญาณปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ด้วยปัจจัยบวกของการบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนก่อนสิ้นปีงบประมาณ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงทรงตัว และการส่งออกขยายตัวแต่ยังมีความเปราะบางอยู่มาก สอดคล้องกับการหดตัวของการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไตรมาสสามเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และยังไม่เห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนในภาคส่วนใด อย่างไรก็ดี กกร.มองว่า แรงหนุนสำคัญที่จะช่วยฟื้นกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศให้ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย คือการเร่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือต้นทุนเกษตรกรทั้งชาวนาและชาวสวนยางพาราวงเงินรวม 4.85 หมื่นล้านบาท เสร็จสิ้นภายในปีนี้ รวมทั้งการเร่งเซ็นสัญญาและเบิกจ่ายโครงการลงทุนมีวงเงินสูงกว่า 1,000 ล้านบาทได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กกร. มีความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ... ตามที่ร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. .... (ร่างพระราชบัญญัติฯ) ได้เข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดย สนช. ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (คณะกรรมาธิการวิสามัญ) ขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว นั้น กกร. เห็นด้วยอย่างยิ่งกับหลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ที่กำหนดไว้สองประการ ดังต่อไปนี้ ประการแรก คือ การกำหนดให้มีการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนในการติดต่อยื่นคำขออนุญาตกับหน่วยงานราชการ โดยมีหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข รายการเอกสารหรือหลักฐานที่ผู้ขออนุญาตต้องจัดเตรียม รวมถึงขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตที่ชัดเจน หลักการนี้จะช่วยผู้ขออนุญาตในการเตรียมตัวและเตรียมข้อมูลขออนุญาตที่ครบถ้วน อีกทั้งยังเป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยต่อต้านปัญหาการคอรัปชั่นที่เป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ เนื่องจากต่อไปการพิจารณาออกใบอนุญาตต่างๆจะมีความชัดเจนในลำดับขั้นตอนและระยะเวลาทำงานของผู้อนุญาต มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ง่าย ประการที่สอง คือ การกำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับคำขออนุญาตซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ขออนุญาตไม่ต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน ลดภาระค่าใช้จ่าย และระยะเวลา นอกจากนี้ จะทำให้การเริ่มนับระยะเวลาการขออนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลาย ๆ ฉบับ มีความชัดเจนขึ้น อีกทั้งหากการจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาตนี้มีลักษณะเป็น one-stop-service center ได้อย่างแท้จริงและจัดตั้งขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง กกร. จึงขอผลักดันการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็วต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ