ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร "ธ. ธนชาต" ที่ "AA-", หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน ที่ "A+", และหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ "A" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 6, 2014 16:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิและหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ “A+” และ “A” ตามลำดับ โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของธนาคาร อีกทั้งยังสะท้อนการสนับสนุนจากพันธมิตรคือ Bank of Nova Scotia (BNS) จากประเทศแคนาดาซึ่งถือหุ้น 49% ในธนาคาร ผ่าน Scotia Netherlands Holdings B.V. อย่างไรก็ตาม อันดับเดรดิตถูกลดทอนจากคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอของธนาคาร รวมถึงปริมาณสำรองหนี้สงสัยจะสูญในระดับต่ำแม้ว่ากำลังเพิ่มขึ้น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อันดับเครดิต “A” สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 สะท้อนความเสี่ยงในการด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารดังกล่าวนี้มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. ในการนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III โดยมีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนชำระดอกเบี้ย และสามารถแปลงสภาพได้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารคืนทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดภายหลังระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวจะถูกแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญในกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลเห็นว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนบทบาทของธนาคารในการประกอบธุรกิจหลักในกลุ่มธนชาต โดยคาดว่าธนาคารจะได้ประโยชน์จากการผสานพลังร่วมภายในกลุ่มเพื่อเสริมความแข็งแกร่งต่อสถานะทางการตลาดของสินเชื่อและช่วยขยายฐานเงินฝากให้เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าธนาคารจะสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อมิให้เสื่อมถอยลงไปอีก รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เงินกองทุนและเพิ่มปริมาณสำรองให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ธนาคารธนชาตเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญของ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นธนาคารในสัดส่วน 50.96% ธนาคารมีขนาดสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 6 ของธนาคารพาณิชย์ไทย โดย ณ เดือนมิถุนายน 2557 มีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 7.6% และเงินรับฝาก 6.9% พอร์ตสินเชื่อของธนาคารมีการกระจายตัวในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้นภายหลังการซื้อกิจการของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2553 ทั้งนี้ พอร์ตสินเชื่อ ณ เดือนมิถุนายน 2557 ประกอบด้วยสินเชื่อรายย่อยในสัดส่วน 68% ของสินเชื่อรวม สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 20% สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 10% และสินเชื่ออื่นอีก 2% ธนาคารเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด ณ สิ้นปี 2556 ประมาณ 24% และมีสินเชื่อเช่าซื้อ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 ทั้งสิ้น 431.6 พันล้านบาท คิดเป็น 55% ของสินเชื่อรวม ธนาคารมีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นจากการให้ความสำคัญมากขึ้นกับสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ให้ผลตอบแทนสูงเพื่อเพิ่มส่วนต่างดอกเบี้ยให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ขยายสินเชื่อมากถึง 19% ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม ธนาคารอนุมัติสินเชื่อใหม่ด้วยความระมัดระวังยิ่งขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและยอดขายรถยนต์ที่ซบเซา ซึ่งส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวเพียง 5% ในปี 2556 ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 ธนาคารมีสินเชื่อรวมดอกเบี้ยค้างรับจำนวน 782.7 พันล้านบาท ลดลง 0.1% จากปี 2556 สถานะทางเครดิตของธนาคารลดทอนลงจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (สินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน สินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) ที่มีอยู่ในระดับสูงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสินเชื่อที่รับโอนมาจากธนาคารนครหลวงไทย คุณภาพสินเชื่อของธนาคารเสื่อมถอยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจาก 32.5 พันล้านบาทในปี 2555 เป็น 35.3 พันล้านบาทในปี 2556 และ 36.0 พันล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2557 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมในเดือนมิถุนายน 2557 เท่ากับ 4.6% เทียบกับ 4.3% ในปี 2555 ธนาคารได้เพิ่มปริมาณสำรองหนี้สงสัยจะสูญในปี 2556 อย่างไรก็ตาม ปริมาณสำรองที่มีต่อสำรองพึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ของธนาคารยังคงต่ำกว่าของธนาคารอื่น โดย ณ เดือนมิถุนายน 2557 ธนาคารมีสำรองหนี้สงสัยจะสูญคิดเป็น 85% ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ ธนาคารเผชิญกับความท้าทาย 2 ประการ ได้แก่ การควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และการเพิ่มปริมาณสำรองหนี้สงสัยจะสูญให้มากยิ่งขึ้น ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารดีขึ้นแต่ยังคงอ่อนแอกว่าธนาคารอื่น กล่าวคือ ธนาคารมีกำไรสุทธิ 15.6 พันล้านบาทในปี 2556 เพิ่มขึ้น 82% โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายบริษัทย่อยคือ บริษัทธนชาตประกันชีวิต จำกัด จำนวน 12.3 พันล้านบาท ในขณะเดียวกัน ธนาคารได้ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นพิเศษประมาณ 5.4 พันล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมรายการพิเศษทั้ง 2 รายการแล้ว กำไรสุทธิของธนาคารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 18% ธนาคารมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (หลังปรับปรุง) ประมาณ 0.98% ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม สำหรับครึ่งแรกของปี 2557 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 5.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากกำไร (ไม่รวมรายการพิเศษ) ในงวดเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารจะดีขึ้น แต่อาจปรับลดลงได้หากต้นทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการมีสินเชื่อที่อาจเสื่อมถอยลงไปอีก เงินกองทุนของธนาคารดีขึ้นและเพียงพอต่อการขยายธุรกิจใน 2-3 ปีข้างหน้า ณ เดือนมิถุนายน 2557 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 9.93% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวมที่ 15.59% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท. ที่ 6.00% และ 8.50% ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวมที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม แต่อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (TBANK) อันดับเครดิตองค์กร: AA- อันดับเครดิตตราสารหนี้: TBANK155A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิ 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+ TBANK204A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิ 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+ TBANK227A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิ 8,497 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+ TBANK22OA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิ 4,018.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+ TBANK24DA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 13,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ