DEMCO ยิ้มแก้มปริ เตรียมรับเงินปันผลโครงการพลังงานลมรอบสอง ประกาศพร้อมลุยพลังงานทดแทนเต็มสูบ หวังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า200 MW

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 17, 2014 12:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--IR network บมจ.เด็มโก้ (DEMCO) เปิดแผน 3 ปี (2558-2560) เตรียมกระโดดเข้าลุยธุรกิจพลังงานทดแทนเต็มเหนี่ยว ทั้งใน”พลังงานลม-โซล่าฟาร์ม-โรงไฟฟ้าขยะ” หลังรัฐบาลประกาศนโยบายชัดเจนสนับสนุนให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุน คาดเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 200 เมกกะวัตต์ “พงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์”ยันไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน แม้จะมีแผนลงทุนเพียบ เผยอยู่ระหว่างเจรจาสถาบันการเงิน 2-3 แห่ง จัดหาเงินกู้และลงทุนธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานทดแทนในลักษณะ Business Matching แถมยังมีวอร์แรนต์ และหุ้น WEH เป็นแบ็คอัพ ขยายศักยภาพกู้เงินได้ 8,000-10,000 ล้านบาท ขณะที่งบเก้าเดือน กำไรสุทธิ 249 ล้านบาท แถมข่าวดีรับเงินปันผลจากโครงการพลังงานลมเป็นงวดที่สองอีก 50 ล้านบาท นายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) (DEMCO) เปิดเผยว่า ผลประกอบการในไตรมาส 3/57 และงวด 9 เดือน มีรายได้รวม 1,521.37 ล้านบาท และ 3,282.30 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 118.29 ล้านบาทและ 248.94 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 6,090.42 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 5,888.07 ล้านบาท นอกจากนี้ในเดือน ธ.ค.2557 บริษัทจะได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในโครงการพลังงานลมห้วยบง 2,3 งวดที่สองจำนวน 50 ล้านบาท รวมเป็นเงินปันผลที่รับในปีนี้ทั้งสิ้น 166.46 ล้านบาท สำหรับปี 2558 บริษัทคาดว่าจะทำลายสถิติสูงสุดทั้งในด้านรายได้ และ กำไร โดยในด้านรายได้จะมาจากการขยายขนาดของตลาด บริษัทจะได้ประโยชน์จากการลงทุนด้านสายส่งและสถานีไฟฟ้าของ กฟผ.ที่ประกาศงบลงทุน 5 ปี มากกว่า 120,000 ล้านบาท การลงทุนจาก กฟภ. ปีละกว่า 20,000 ล้านบาท รวมถึงส่วนเพิ่มจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ตามประกาศของ กระทรวงพลังงาน 1,445 เมกกะวัตต์ มูลค่าลงทุนมากกว่า 86,000 ล้านบาท สำหรับรายได้จากการลงทุนบริษัทจะรับรู้รายได้ จากการถือหุ้น 15 % ในโครงการพลังงานลมห้วยบง 2,3 ซึ่งคาดว่าจะได้รับเงินปันผล ในปี 2558 จำนวน 180 ล้านบาท เงินปันผลจาก โครงการโซล่าและโซล่ารูฟ จำนวน 3 เมกกะวัตต์จำนวน 15 ล้านบาท และ จะมีรายได้จากการลงทุนใน โรงไฟฟ้าพลังงานลม เขาค้อ ที่บริษัทถือหุ้น อยู่ 10% ของกำลังการผลิต 60 เมกกะวัตต์, การเข้าจดทะเบียนของ วินด์เอ็นเนอร์ยี่ส์โฮลดิ้ง ( WEH -ผู้พัฒนาโครงการพลังงานลมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กำลังการผลิตรวม 930 เมกกะวัตต์) ในไตรมาส 3/ 2558 ซี่งบริษัท ถือหุ้น 4 % ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของงานก่อสร้างและการขยายตัวของรายได้จากการลงทุนและการเข้าจดทะเบียนของ WEH จะส่งผลให้ปีหน้าเป็นปีที่บริษัทมีการปรับฐานรายได้และกำไรเพิ่มสูงขึ้น “ ในด้านการลงทุนในพลังงานทดแทน ปัจจุบันบริษัทถือหุ้น 15% ในโครงการพลังงานลมห้วยบง 2,3 ( 207 เมกกะวัตต์) ถือหุ้น 10% ในโครงการเขาค้อ (6 เมกกะวัตต์) ถือหุ้นโครงการโซล่าและโซล่ารูฟ จำนวน 3 เมกกะวัตต์ รวมปัจจุบันลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งสิ้น 37 เมกกะวัตต์ ซึ่งจะสร้างกระแสเงินสดในรูปเงินปันผลให้บริษัทรวมปีละ 230 ล้านบาท นอกจากนี้ การที่บริษัทถือหุ้น 4% ในบริษัท วินเอ็นเนอร์ยี่ส์ โฮลดิ้ง (WEH) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการพลังงานลมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บนกำลังการผลิตรวม 930 เมกะวัตต์ จะเป็นสัดส่วนการถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นอีก 37 เมกกะวัตต์ รวมเป็นการลงทุนในปัจจุบันทั้งสิ้น 77 เมกกะวัตต์ ”นายพงษ์ศักดิ์กล่าว สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2558 นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า จากนโยบายภาครัฐซึ่งสนับสนุนให้มีการลงทุนในพลังงานทดแทน ทั้งโซล่าฟาร์ม 1,445 เมกกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขยะ 400 เมกกะวัตต์ เด็มโก้กำลังศึกษาที่จะเข้าลงทุนในโซล่าร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าขยะรวม 100-200 เมกกะวัตต์ ในระยะเวลา 2-3 ปี โดยในปี 2558 คาดว่าจะมีการลงทุนประมาณ 70 เมกกะวัตต์จากโครงการโรงไฟฟ้าขยะ 16 เมกกะวัตต์ โซล่าฟาร์ม 50 เมกกะวัตต์ ซึ่งจากแผนลงทุนนี้จะทำให้บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 140 เมกกะวัตต์ ในปี 2558 และจะเพิ่มขึ้นอีก 80-100 เมกกะวัตต์ ในปี 2559-2560 “การลงทุนที่เพิ่มขึ้นในอนาคตนี้ บริษัทเห็นว่าไม่ต้องมีการเพิ่มทุน เนื่องจากโครงสร้างเงินทุนที่ประกอบด้วย Demco-W5,Demco-W6,ESOP จำนวนรวม 1,500 ล้านบาท รวมกับหุ้น 4% จำนวน 4.2 ล้านหุ้น ที่บริษัทถืออยู่ใน WEH ซึ่งปัจจุบันซื้อขายนอกตลาดอยู่ที่ราคา 570 บาท/หุ้นและมีโอกาสที่มูลค่าจะสูงมากขึ้นหลังจาก WEH เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 3/2557 ซึ่งคาดหมายว่าราคา IPO จะอยู่ที่ 900-1,000 บาท /หุ้น จะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดอีกไม่น้อยกว่า 2,400 ล้านบาท เพียงพอที่จะใช้ลงทุนได้อย่างสบาย”นายพงษ์ศักดิ์กล่าว นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการลงทุนของบริษัทส่วนใหญ่จะใช้เงินจากการเพิ่มทุน และการออก warrant ส่งผลให้ DE Ratio ของบริษัทค่อนข้างต่ำอยู่ระหว่าง 0.7-1.0 เท่า ขณะที่ DE Ratio ของอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 2-3 เท่า และเป็น 7 เท่าสำหรับบางกิจการ “ในปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างพูดคุยกับธนาคารขนาดใหญ่ 2-3 แห่ง เพื่อให้ความช่วยเหลือบริษัท ในการจัดหาเงินกู้ และการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและพลังงาน ทั้งพลังงานทดแทนกลุ่ม IPP,SPP ในลักษณะ Business Matching ซึ่งจากโครงสร้างเงินทุนที่มาจาก Warrant , ESOP และหุ้น WEH มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท จะส่งผลให้บริษัทสามารถกู้เงินราว 8,000-10,000 ล้านบาท บนอัตราส่วน DE Ratio 2.5 เท่า ทำให้บริษัทมีศักยภาพในอนาคตที่จะลงทุนในธุรกิจ 12,000-14,000 ล้านบาทเพื่อรองรับการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาด 200- 250 เมกกะวัตต์ในอนาคต ”นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ