ประเด็นปัญหาการนำเข้าเหล็กเส้น เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และเหล็กรูปพรรณรีดร้อนเจือโบรอน จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวทั่วไป Thursday November 20, 2014 15:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--สภาอุตสาหกรรมฯ ดร.ทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก 081-8505422 ตามที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ได้รับข้อร้องเรียนจากสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 เกี่ยวกับประเด็นที่อาจจะมีผู้ประกอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตผสมโบรอนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศ กลุ่มฯ ได้ตรวจสอบและหารือแนวทางแก้ไขพร้อมกับทำหนังสือถึงสภาอุตสาหกรรมฯ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ให้ประสานงานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาระงับการนำเข้าเหล็กดังกล่าว ด้วยเห็นว่าผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตที่เจือโบรอนนั้นยังไม่มีการศึกษาหรือทดสอบมาตรฐาน ซึ่งอาจจะเป็นเหล็กที่มีคุณภาพต่ำหรือมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอและไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างซึ่งจะส่งผลถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคต่อไปได้ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก จึงขอความอนุเคราะห์จากภาครัฐที่เกี่ยวข้องระงับการออกใบอนุญาตนำเข้า และควรพัฒนามาตรฐานของสินค้าเหล็กดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการช่วยปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศและเพื่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กจึงขอนำเสนอข้อมูลด้านข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาประเด็นดังกล่าว ดังนี้ 1.ข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 1.1 ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต: เหล็กข้ออ้อยและเหล็กเส้นกลม เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีพระราช-กฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีผลทำให้ผู้ทำ ผู้นำเข้า ต้องขออนุญาตทำและนำเข้าตามมาตรา 20 และ มาตรา 21 รวมทั้งตามมาตรา 36 กำหนดให้ผู้จำหน่ายจะต้องจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตให้ทำและนำเข้าตามมาตราดังกล่าวข้างต้นด้วย 1.2 หากมีการนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรในพิกัดศุลกากรที่ตรงกับสินค้าที่กำหนดให้เสียภาษีอากรขาเข้า อากรทุ่มตลาด และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งสินค้าใดตรงกับที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศว่าห้ามนำเข้าจากประเทศนั้นๆด้วยเหตุของการใช้มาตรการ Safeguard สินค้าเหล่านั้นจะไม่สามารถนำเข้าในราชอาณาจักรได้ 1.3 เหล็กเส้นและเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตมีพิกัดศุลกากร 7214 และ 7215 ซึ่งมีอากรนำเข้าร้อยละ 5 และมีมาตรฐานบังคับตาม มอก.20 และ มอก.24 ส่วนเหล็กรูปพรรณรีดร้อน พิกัดศุลกากร 7216 มีอากรขาเข้าร้อยละ 10 และมีมาตรฐานบังคับตาม มอก.1227 1.4 ขณะเดียวกันเหล็กทรงยาวเจือโบรอน พิกัดศุลกากร 7227.90 7228.70.10 และ 7228.70.90 ซึ่งเหล็กเจือโบรอนดังกล่าวมีภาษีอากรนำเข้าร้อยละ 0 2. ข้อเท็จจริง 2.1 เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน การนำเข้าต้องได้รับการอนุญาตจาก สมอ.ตามมาตรา 21 หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา 48 ซึ่งปัจจุบันมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า สมอ. ยังไม่ได้ออกใบอนุญาตให้มีการนำเข้า รวมทั้งยังไม่มีข้อมูลการนำเข้าจากกรมศุลกากรแต่อย่างใด แต่ข่าวการขออนุญาตนำเข้าได้แพร่ออกไปและสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศแล้ว 2.2 เมื่อยังไม่มีการนำเข้าสินค้าดังกล่าว กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กจึงมิอาจเสนอให้ผู้ประกอบการร้องขอต่อกระทรวงพาณิชย์เพื่อนำมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดและมาตรการป้องกันการนำเข้าสินค้า (AD หรือ Safeguard) มาใช้แก้ไขสถานการณ์นี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดจัดทำกฎหมายป้องกันการหลบหลีกการนำเข้าสินค้า(Anti-Circumvention)ตามที่ประเทศต่างๆได้บัญญัติไว้แล้ว 2.3 จากการค้นคว้าหาข้อมูลผลเสียที่เกิดขึ้นจากการเจือโบรอนในเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตพบว่า ปัจจุบันข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือได้ยืนยันว่า ยังไม่พบข้อดีใดๆที่บ่งบอกว่าการเจือโบรอนในจำนวนน้อย (0.008%) ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรง การศึกษาเกี่ยวกับโบรอนยังมีน้อยมาก จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องต้องศึกษาให้รอบคอบเสียก่อนที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคและอาคาร ที่อาจจะมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย 2.4 ดังนั้น เมื่อเหตุผลทางด้านวิศวกรรมยังไม่แน่ชัด เพื่อเป็นการปกป้องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและเป็นการอำนวยความสะดวกการค้าที่เป็นธรรม กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กขอสนับสนุนให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระงับการออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้าดังกล่าว และได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการผลิตหรือนำเข้าเหล็กเจือโบรอน นอกจากนี้ให้คณะกรรมการวิชาการชุดที่ 9 (กว 9) แก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนดเงื่อนไขว่าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตชนิดเจือโบรอนห้ามใช้กับงานก่อสร้าง 2.5 ประเทศต่างๆที่ได้รับผลกระทบในกรณีเดียวกันนี้ได้ออกมาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการทางมาตรฐานสินค้าและมาตรการด้านภาษี เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินโดนิเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน เวียดนาม และล่าสุดประเทศอินเดียได้ประกาศตอบโต้การนำเข้าสินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตเจือโบรอนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 2.6 ขอให้มีการตรวจสอบการนำเข้า square bar เจือโบรอน เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า square bar ดังกล่าวคือ billet ที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีในพิกัดที่ควรจะเป็นและมีการนำ square bar ดังกล่าวไปรีดเป็นเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตขายในประเทศ ดังนั้น หากที่ไม่มีหลักฐานยืนยันถึงกระบวนการผลิตว่า เป็น billet ที่ทำมาจาก Open heart process หรือ basic oxygen process หรือ electric arc furnace process ก็ถือเป็นเหตุชวนเชื่อได้ว่า เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตที่ผลิตขึ้นไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งผู้ผลิตนอกจากจะได้รับโทษตามข้อกฎหมายอื่นแล้ว ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฯ อีกด้วย 3. สถานะปัจจุบัน 3.1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยังมิได้ออกใบอนุญาตการนำเข้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตเจือโบรอนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะกรรมการวิชาการชุดที่ 9 (กว 9) สมอ.อยู่ระหว่างการทบทวน มอก.20 และ 24 3.2 กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งพิจารณาเข้มงวดเรื่องการหลีกเลี่ยงการนำเข้า (Circumvention)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ