ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย” ที่ ระดับ “AA-” และจัดอันดับพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาทที่ระดับ “AA-”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 24, 2014 15:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ที่ระดับ “AA-” และจัดอันดับเครดิตพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2560 ที่ระดับ “AA-” โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของ บตท. ที่มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. ยังสะท้อนถึงแนวโน้มที่ดีหลังจากประสบความสำเร็จจากโครงการความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. มีข้อจำกัดจากความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ ความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ การรักษาระดับเงินทุนให้เพียงพอ และการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อรองรับการขยายพอร์ตสินเชื่อจำนวนมากระหว่างปี 2554-2557 ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ในระยะปานกลางว่าผู้บริหารของ บตท. จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งสามารถซื้อพอร์ตสินเชื่อจำนวนมากจากสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรได้ตามแผน แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของ บตท. กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากรัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต บตท. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งถือหุ้น 100% โดยกระทรวงการคลัง บตท. มีบทบาทในการส่งเสริมตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทยและมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับสิทธิพิเศษด้านกฎหมายและการยกเว้นภาษีภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 อีกทั้งรัฐบาลยังแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนโดยการอนุมัติเงินเพิ่มทุนให้แก่ บตท. ในปีงบประมาณ 2557 ด้วย บตท. ก่อตั้งในปี 2540 ภายใต้ พ.ร.ก. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว รัฐบาลสามารถค้ำประกันตราสารหนี้ที่ออกโดย บตท. ได้ไม่เกิน 4 เท่าของเงินกองทุน ต่อมาในเดือนมกราคม 2552 กระทรวงการคลังได้เพิ่มทุนให้แก่ บตท. อีก 100 ล้านบาท และล่าสุดกระทรวงการคลังยังอนุมัติการเพิ่มทุนให้อีกจำนวน 130 ล้านบาทสำหรับปีงบประมาณ 2557 คณะกรรมการของ บตท. ประกอบด้วยตัวแทนที่หลากหลายจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมที่ดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยผู้มีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เหมาะสมอีกไม่เกิน 4 ตำแหน่งและกรรมการผู้จัดการของ บตท. ทั้งนี้ โครงสร้างคณะกรรมการ บตท. ได้รับการจัดสรรอย่างรอบคอบเพื่อรองรับการดำเนินงานตามพันธกิจ เป้าหมายในการก่อตั้ง บตท. คือ การสร้างตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเสนอสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราคงที่ระยะยาวแก่ผู้ซื้อบ้าน สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อยู่ในพอร์ตของ บตท. เป็นการซื้อมาจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยในตลาดแรกแล้วนำมารวมกันเพื่อสร้างตราสารทางการเงินที่มีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง จากนั้นจึงขายตราสารดังกล่าวให้แก่นักลงทุน บตท. มีโอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้นหลังจากสามารถบรรลุเป้าหมายกลยุทธ์ทางธุรกิจหลายประการ ดังเห็นได้จากยอดสินเชื่อในปี 2557 ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากสิ้นปี 2556 และมีกำไรติดต่อกัน 7 ปีแม้จะมีความผันผวนด้านรายได้อยู่ก็ตาม นอกจากนี้ การขยายความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินพันธมิตรเป็นจำนวนมากยังทำให้พันธมิตรดังกล่าวขายพอร์ตสินเชื่อให้ บตท. มากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2552 จนถึงเดือนมิถุนายน 2557 บตท. มียอดสินเชื่อใหม่เข้ามามากถึง 13,559 ล้านบาท ส่งผลทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 1,732 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 4,756 ล้านบาทในปี 2555 และเป็น 8,610 ล้านบาทในปี 2556 และ ณ เดือนมิถุนายน 2557 ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นถึง 57% จากสิ้นปี 2556 มาอยู่ที่ 13,557 ล้านบาท การควบคุมคุณภาพสินเชื่อเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับ บตท. เนื่องจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นทำให้ บตท. มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 329 ล้านบาทในปี 2550 หลังจากที่มีผลขาดทุนสุทธิ 99 ล้านบาทในปี 2549 และ 120 ล้านบาทในปี 2548 ภายหลังจากการตัดจำหน่ายหนี้สูญจำนวน 318 ล้านบาทในปี 2550 แล้ว อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ บตท. ก็ลดลงจาก 39.8% ในปี 2549 มาอยู่ที่ระดับ 6.9% ในปี 2550 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 8.9% ในปี 2551 และเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 18.8% ในปี 2554 ผลจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของพอร์ตสินเชื่อทำให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ 5.6% ในปี 2555 อยู่ที่ 3.3% ในปี 2556 และอยู่ที่ 2.6% ณ เดือนมิถุนายน 2557 ทั้งนี้ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ บตท. ที่ระดับ 3.3% ณ เดือนธันวาคม 2556 เป็นอัตราส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 4.8% ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 8 แห่ง อัตราส่วนดังกล่าวที่ระดับ 2.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 ก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 3.1% ของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 16 แห่งด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคงต้องติดตามความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินเชื่อของ บตท. ต่อไป ความสามารถในการทำกำไรของ บตท. ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2551 โดย บตท. รายงานผลกำไรสุทธิ 22 ล้านบาทหลังจากขาดทุนติดต่อกันมา 3 ปี และรายงานผลกำไรสุทธิ 26 ล้านบาทในปี 2552 ในขณะที่ในปี 2553 บตท. มีกำไรสุทธิเพียง 0.3 ล้านบาทเนื่องจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงานและการเพิ่มขึ้นของรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชี IAS39 ในปี 2554 กำไรสุทธิของ บตท. ฟื้นตัวเป็น 4 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 9.9 ล้านบาทในปี 2555 จากการขยายตัวของสินเชื่อและการมีค่าใช้จ่ายสำหรับรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2556 บตท. มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 66% เป็น 26 ล้านบาท และในช่วงครึ่งแรกปี 2557 ผลกำไรสุทธิยังเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 46 ล้านบาท ในอดีต ฐานเงินทุนหลักของ บตท. มาจากตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น ภายหลังจากการออกพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันและตราสารทางการเงินซึ่งมีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง (Mortgage-backed Securities -- MBS) ก็ทำให้แหล่งเงินทุนจากตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นเหลือเพียง 62% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 และในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 บตท. ยังออกพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันมูลค่า 1,650 ล้านบาทและ MBS อีก 3,200 ล้านบาทด้วย ซึ่งทำให้สัดส่วนแหล่งเงินทุนระยะยาวมีมากขึ้น และทำให้แหล่งเงินทุนสอดคล้องกับระยะเวลาของสินเชื่อที่ซื้อมากขึ้น บตท. สามารถดำเนินการตามพันธกิจในการพัฒนาตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน บตท. ประสบความสำเร็จในการออก MBS และตราสารทางการเงินซึ่งมีกระแสเงินสดจากสินทรัพย์หนุนหลัง (Asset-backed Securities -- ABS) ถึง 7 ครั้ง มูลค่ารวม 6,614 ล้านบาท การออกตราสารดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประเภทของตราสารทางการเงินใหม่ ๆ เช่น MBS เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนและช่วยลดความไม่สมดุลระหว่างโครงสร้างของสินทรัพย์และหนี้สินที่มีอยู่ในปัจจุบันของ บตท. ล่าสุด บตท. จะออกพันธบัตรชุดใหม่มูลค่า 1,200 ล้านบาทเพื่อนำรายได้ไปใช้ชำระคืนหนี้เดิม รวมทั้งใช้ซื้อพอร์ตสินเชื่อใหม่ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน บตท. มีการขยายพอร์ตสินเชื่อจำนวนมากโดยการใช้เงินทุนที่มีอย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงจาก 77.7% ในปี 2554 มาอยู่ที่ 13.8% ณ เดือนมิถุนายน 2557 อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงจาก 36.3% ในปี 2554 มาอยู่ที่ 5.7% ณ เดือนมิถุนายน 2557 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่า บตท. จะสามารถรักษาระดับเงินกองทุนสำหรับรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในอนาคตได้อย่างเพียงพอ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (SMC) อันดับเครดิตองค์กร: AA- อันดับเครดิตตราสารหนี้: SMCT156A: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 AA- SMCT166A: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 827 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AA- SMCT168A: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AA- SMCT179A: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AA- พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2560 AA- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ