‘แพรี่ ด๊อก’ กระรอกดิน สัตว์เลี้ยงไซส์มินิเทรนด์ใหม่มาแรง

ข่าวทั่วไป Monday November 24, 2014 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--Mascot Communication เมื่อเอ่ยถึงสัตว์เลี้ยงไซส์มินิ ใครๆ ก็อาจคิดถึง สุนัข แมว กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ แต่เมื่อเอ่ยถึง ‘แพรี่ ด็อก’ หรือ กระรอกดิน หลายคนอาจไม่รู้จัก หรือไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แต่เชื่อหรือไม่ว่า เจ้าแพรี่ ด๊อกนี้กำลังจะกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงยอดฮิตสุดอินเทรนด์ตัวใหม่ ที่ใครๆ ก็อยากเลี้ยงไว้ที่บ้าน ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ได้จัดงาน “Prairie Dog Paradise Party” ซึ่งได้รับความสนใจจากคนรักแพรี่ ด็อกที่นำสัตว์เลี้ยงจิ๋วแสนน่ารักมาแปลงโฉมแต่งตัวในคอนเซ็ปต์พาราไดซ์แฟรี่เทล ที่น่ารักน่าชังมาเดินอวดโฉมกันอย่างคึกคัก นอกจากเหล่าสาวก แพรี่ด็อก ยังได้ร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การตรวจสุขภาพเบื้องต้น สำหรับแพรี่ด็อก Prairie Dog Talk กับสัตวแพทย์จากรพ.สัตว์ทองหล่อ ที่ให้ความรู้ถึงวิธีการดูแล อุปนิสัย โรคที่มักพบใน Prairie Dog แนะเคล็ดลับการดูแลสัตว์เลี้ยงจิ๋วชนิดนี้อีกด้วย โดย นายสัตวแพทย์ ปิยวุฒิ ศิริธรรมวิไล แผนกอายุรกรรมและสัตว์เลี้ยงพิเศษ ให้ข้อมูลว่า“แพรี่ ด็อก” มีชื่อเต็มว่า “แพรี่ ด็อกหางดำ” (Black-tailed Prairie Dog) เนื่องจากมีลักษณะเด่นก็คือปลายหางมีสีดำ หลายคนอาจรู้จักกันในชื่อ กระรอกดิน หรือบ้างก็เรียกว่า กระรอกหมา เพราะมีเสียงเห่าคล้ายกับสุนัขพันธุ์เล็กอย่างชิวาวา โดยเสียงที่แหลมเล็กนั้นมีไว้เพื่อทักทายกัน และป้องกันตัวจากศัตรู มีถิ่นกำเนิดที่ทุ่งหญ้าแพรี่ทางตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ แคนาดา และเม็กซิโกตอนเหนือ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cynomys ludovicianus เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในตระกูลฟันแทะ เช่นเดียวกับพวกหนูตะเภา แฮมสเตอร์ มีตาโต ฟันแข็งแรง หางยาว 3-4 นิ้ว ขนสีน้ำตาลทอง หูสั้น เท้ามีสีครีม ชอบอาศัยอยู่เป็นฝูง ฝูงหนึ่งจะแบ่งย่อยเป็นหน่วยเล็กที่เรียกว่า “coterie” และในแต่ละ “coterie” จะมีตัวผู้ตัวเดียวนอกนั้นเป็นตัวเมียประมาณ 4 ตัว “แพรี่ ด็อก” พร้อมเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 2-3 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นสัตว์กินพืชจึงชอบกินเมล็ดพืช ต้นพืช รากพืชและหญ้าเป็นอาหารแต่ก็สามารถทานแมลงและหนอนได้เช่นเดียวกัน อาศัยโดยการขุดรูใต้ดิน อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 18-24 องศาเซลเซียส สมาชิกแต่ละตัวจะทักทายกันด้วยการยิงฟันออกมาสัมผัสกัน เช่นเดียวกับการทักทายของคนที่ทักทายด้วยการ “จูบ” กัน “แพรี่ด็อกตัวเมีย” จะมีลูกครั้งละประมาณ 4-5 ตัวต่อปี ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ระยะเวลาในการตั้งครรภ์ประมาณ 28 –32 วัน ลูกของมันตอนเกิดมาในช่วง 34-35 วัน จะยังไม่ลืมตาและไร้ขน มันจะไม่ออกมาภายนอกรูจนกระทั่งอายุได้ 6 สัปดาห์ แพรี่ด็อกตัวเมียอาจจะมีอายุยืนยาวได้ถึง 8 ปี ส่วนตัวผู้ปกติจะมีอายุสั้นกว่า คือ ไม่เกิน 5 ปี แพร์รี่ด็อกนั้นมีความฉลาดมากกว่ากระรอกหรือกระต่ายจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คนหันมานิยมเลี้ยงกันมากขึ้น อีกทั้งเป็นสัตว์แสนรู้ที่สามารถจำเจ้าของได้ บางตัวขี้เล่น บางตัวกินจุ บางตัวติดเจ้าของ ลูบหัวได้ เรียกชื่อแล้วมาหา บางตัวเรียกชื่อแล้วส่งเสียงขานรับ สามารถฝึกให้ยืน 2 ขาได้ หรือฝึกเมื่อเจ้าของผิวปากแล้วจะร้องรับ รวมถึงสามารถจูงเดินได้โดยใช้สายจูง แถมยังสามารถแต่งตัวพาไปสังสรรค์อวดโฉมได้ด้วย ปัจจุบันมีการตั้งชมรมแพรี่ด็อกในโลกออนไลน์ เพื่อที่จะได้มีการพบปะกันของคนที่ชื่นชอบและเลี้ยงแพรี่ ด็อก ตามสวนสาธารณะต่างๆ เพราะเจ้าแพรี่ด็อกนั้นเป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่เป็นฝูง แรกๆ ของการเลี้ยงต้องอาศัยความเคยชิน โดยฝึกสร้างความคุ้ยเคยด้วยการให้อาหาร ลูบหัวลูบคอ เกาแก้ม เป็นประจำ ต้องเล่นด้วยบ่อยๆ คลุกคลีด้วยเป็นประจำ ไม่ใช่เลี้ยงแต่ในกรงให้อาหารเท่านั้น จะทำให้เขาเชื่องขึ้น สำหรับการให้อาหารนั้นตามธรรมชาติจะกินหญ้าแพรี่ เวลานำมาเลี้ยงอาจให้หญ้าได้หลายชนิด เช่น หญ้าอัลฟาฟ่า หญ้าทิมโมธี หรืออาจจะเป็นหญ้าอัดเม็ด หนอน และอาหารสำหรับแพรี่ ด็อกโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถวางไว้ให้กินได้ตลอดทั้งวัน แต่อาจต้องจำกัดปริมาณบ้าง เพราะถ้าให้เยอะไปอาจทำให้แพรี่ด็อกอ้วนได้ สำหรับใครที่สนใจมองหาสัตว์เลี้ยงคู่ใจที่ไซส์ไม่ใหญ่มาก หรือมีเนื้อที่ในการเลี้ยงจำกัด เช่น ในคอนโด อพาร์ตเม้นต์ หรือบ้านที่มีอาณาบริเวณจำกัด แพรี่ ด็อกอาจเป็นอีกทางเลือกของสัตว์เลี้ยงที่น่าสนใจ แต่อย่างไรก็ตาม ควรหาข้อมูล ตั้งแต่การเลือกซื้อ ต้องดูตัวที่ไม่อยู่นิ่ง มีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา ไม่นอนเฉยๆ ไม่ซึม ไม่มีขี้มูกขี้ตา ขนสวยเงาฟู รวมถึงต้องศึกษาวิธีการเลี้ยงสัตว์ประเภทนี้ให้ดี โดยสามารถขอคำปรึกษากับสัตวแพทย์ด้านสัตว์เลี้ยงพิเศษ ได้ที่ คลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ สาขาปิ่นเกล้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ