ดาว ประเทศไทย จัดประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ “ศักยภาพ” การประยุกต์ใช้อุปกรณ์ทดลองเคมีแบบย่อส่วน

ข่าวทั่วไป Wednesday November 26, 2014 14:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทย สานต่อความสำเร็จการขยายผลโครงการอีกขั้น ด้วยการจัดประกวดการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน ทั้งนี้เพื่อวัดศักยภาพการนำเอาเทคนิคการปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนในห้องเรียน ต่อเนื่องจากกิจกรรมที่ “โครงการห้องเรียนเคมีดาว” ได้ดำเนินมาตลอดทั้งปี ตั้งแต่การออกแบบกิจกรรมทดลองเคมีแบบย่อส่วนต้นแบบ 10 การทดลอง การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่อาจารย์วิทยาศาสตร์ 61 คน จาก 21 โรงเรียน และได้นำอุปกรณ์ทดลองเคมีแบบย่อส่วนมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนจริง การประเมินผลพร้อมทั้งไห้คำแนะนำจากโครงการฯ ซึ่งความต่อเนื่องของโครงการ พร้อมด้วยความร่วมมือจากโรงเรียนทั้ง 21 แห่ง ส่งผลให้โครงการมีความคืบหน้ามาจนถึงปัจจุบัน “ การประกวดการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน “ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการฯ ในงานนี้มี นายทรรศนะ วิชัยธนพัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ให้เกียติเป็นประธานในงาน โดยกิจกรรมดังกล่าวมุ่งเสริมสร้างศักยภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอนปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนอย่างมีประสิทธิภาพของครูและนักเรียน แบ่งการประกวดออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา และ กลุ่มโรงเรียนประถมศึกษา (ขยายโอกาส) ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้พิสูจน์ให้เห็นว่าโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมเทคนิคการทดลองเคมีแบบย่อส่วนไปคิดค้นต่อยอด และประยุกต์การเรียนการสอนโดยการนำอุปกรณ์ที่ใกล้ตัวและหาได้ง่ายมาปรับใช้ในการทดลองเคมีแบบย่อส่วน ทั้งนี้ มีโรงเรียนที่เข้าร่วมประกวดการนำเสนอโครงงานทั้งสิ้นจำนวน 11 แห่ง รวมทั้งสิ้น 13 ผลงาน นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดพิธีมอบใบประกาศนียบัตรแก่ครูต้นแบบ นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า จากการดำเนินงานโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ตั้งแต่ระยะที่ 1 – ระยะที่ 4 เรามีการขยายและต่อยอดโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งครูผู้สอนวิทยาศาสตร์และนักเรียน โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องความยั่งยืนของโครงการและการพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนเป็นสำคัญ การจัดประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและต่อยอดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้กับเยาวชน การปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้สอนและผู้เรียนว่าการทดลองทางวิทยาศาสตร์นั้น ไม่จำเป็นต้องพึ่งอุปกรณ์ในห้องแล็ปวิทยาศาสตร์ที่มีราคาแพงเท่านั้น เราสามารถนำเอาเทคนิคการทดลองเคมีแบบย่อส่วน ซึ่งเป็นการทดลองเคมีที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการเรียนการสอนในห้องเรียน นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์การออกแบบชุดการทดลองใหม่ ๆ ด้วยเครื่องมือที่หาได้ง่ายรอบตัวเรา ซึ่งผลการทดลองที่ได้ก็ไม่มีความแตกต่างกัน อีกทั้งยังตอบโจทย์การพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศได้อย่างแท้จริง” รศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสมาคมกิตติคุณ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” กล่าวว่า “การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ นอกจากจะเป็นการวัดความสำเร็จของโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” แล้วนั้น ยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของครูและนักเรียนในจังหวัดระยอง ด้วยการทดลองปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน ทั้งนี้ ด้วยความต่อเนื่องของโครงการนับตั้งแต่ได้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครูวิทยาศาสตร์ กระทั่งการนำเอาการทดลองเคมีแบบย่อส่วนไปประยุกต์และทดลองใช้ในการเรียนการสอนจริง ทำให้เห็นถึงการพัฒนาด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของครูและนักเรียนอย่างสร้างสรรค์ไปอีกขั้น ในขณะเดียวกันเป็นการยกระดับครูในจังหวัดระยองให้เป็น “ครูต้นแบบ” เพื่อสานต่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แนวใหม่นี้อย่างยั่งยืนต่อไป และเป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้กับโรงเรียนอื่น ๆ รวมทั้งช่วยขยายขอบข่าย องค์ความรู้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาวิทยาศาสตร์ของประเทศในวงกว้างต่อไป” สำหรับผลการแข่งขันการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ แบ่งการประกวดออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มโรงเรียนประถมศึกษา (ขยายโอกาส) และ กลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา และโรงเรียนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม มีรายละเอียดดังนี้ รางวัลยอดเยี่ยม กลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา เป็นของทีมจากโรงเรียนระยองวิทยาคมปากน้ำทีม 2 ได้รับโล่รางวัล พร้อมชุด สมอล แล็บ คิดส์ (Small Lab Kits) จำนวน 1 ชุด และชุดปฏิบัติการทดลองเคมีแบบย่อส่วน จำนวน 40 ชุด จากการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ชุด “ปฏิกิริยาเคมีของสารประกอบไอออนิค” คุณมณธนา มะหะหมัด หรือ ครูฟา จากโรงเรียนระยองวิทยาคมปากน้ำ กล่าวว่า “ตลอดการเข้าร่วมโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งจากคณะกรรมการและเพื่อนครู ซึ่งก่อให้เกิดความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และทักษะการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างดีเยี่ยม และทำให้เกิดการประยุกต์ชุดอุปกรณ์การทดลองแบบย่อส่วน “ปฏิกิริยาของสารประกอบไอออนิก” ซึ่งถือว่าเป็นเนื้อหาพื้นฐานที่สำคัญของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยได้คิดรูปแบบการทดลองแบบย่อส่วนด้วยวิธีการง่าย ๆ มีความปลอดภัย ไม่?ซับซ้อน และให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการทดลองใช้อุปกรณ์ด้วยตนเอง รวมทั้งการแสดงความคิดเห็น เพื่อนำมาปรับปรุงรูปแบบและวิธีการทดลองที่เหมาะสมกับการเรียนการสอน ซึ่งชุดอุปกรณ์การทดลองดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ด้านความสนใจ และเสริมสร้างการจดจำของนักเรียนได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้สนุกสนาน มีความสุขกับการเรียนรูปแบบใหม่มากกว่าการท่องจำจากตำราเรียนเพียงอย่างเดียว” ภัทราวดี ดีบุรี หรือ น้องพู่กัน นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 กล่าวว่า “รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าร่วมแข่งขันการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์จนได้รับรางวัลยอดเยี่ยม นอกจากจะได้รับความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากมาย ดิฉันและเพื่อน ๆ ยังได้มีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติและทำการทดลองด้วยตนเอง ได้ลองผิด ลองถูก โดยมีคุณครูให้คำแนะนำ ทำให้รู้สึกสนุก และมีความเข้าใจเรื่องปฏิกิริยาของสารประกอบไอออนิกมากขึ้นด้วย ซึ่งดิฉันคิดว่าชุดการอุปกรณ์ทดลองนี้จะเป็นประโยชน์กับการเรียนวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะทำให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาง่ายขึ้น มีความปลอดภัย และทำให้เกิดความสนุกสนานในการเรียนมากขึ้นด้วย” รางวัลยอดเยี่ยม กลุ่มโรงเรียนประถมศึกษา (ขยายโอกาส) เป็นของทีมจากโรงเรียนเทศบาลมาบตาพุต ได้รับโล่รางวัล พร้อมชุดปฏิบัติการทดลองเคมีแบบย่อส่วน จำนวน 50 ชุด จากการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ชุด “มหัศจรรย์การทดลองเรื่องกรด-เบส” คุณขณิดา ยศปัญญา หรือครูหมู จากโรงเรียนเทศบาลมาบตาพุด กล่าวว่า “จากการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้เรื่องการจัดการเรียนการสอนปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ถือว่าเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดแนวคิดการจัดทำชุดอุปกรณ์การทดลองแบบย่อส่วน "มหัศจรรย์การทดลองเรื่อง กรด-เบส" ที่ดัดแปลงจากการสอนการทดลองเกี่ยวกับสมบัติของสารละลายกรด-เบส ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งการคิดค้นชุดการทดลองนี้ ครูให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาข้อมูล และวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย เช่น จานสี ขวดหยด ไม้จิ้มฟัน รวมถึงสารเคมีที่หาได้ง่ายในครัวเรือน มีความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดอันตรายมาใช้ในการทดลอง นอกจากนี้ ได้มีการเปรียบเทียบประสิทธิผลด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และความพึงพอใจของนักเรียน ทั้งก่อนและหลังใช้ชุดอุปกรณ์การทดลองดังกล่าว ซึ่งทำให้สามารถได้ชุดอุปกรณ์การทดลองแบบย่อส่วนที่เหมาะสมกับการเรียนการสอน และความสนใจของนักเรียนอย่างแท้จริง” วารุณี พิมคีรี หรือ น้องอ๋อม นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาลมาบตาพุด กล่าวว่า “รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์การทดลองเคมีแบบย่อส่วน รวมทั้งได้ฝึกทักษะการคิดค้นการทดลองด้วยตัวเอง ช่วยทำให้เข้าใจเนื้อหาที่เรียนมากขึ้น จากแต่ก่อนที่เรียนการทดลองด้วยอุปกรณ์ชิ้นใหญ่ซึ่งบางครั้งอุปกรณ์ไม่เพียงพอกับนักเรียน แต่พอมีอุปกรณ์การทดลองเคมีแบบย่อส่วนเข้ามาช่วยเสริม ทำให้สามารถเรียนวิทยาศาสตร์ได้ง่ายและสนุกสนานมากขึ้น และหากมีโอกาสก็อยากเข้าร่วมโครงการดี ๆ เช่นนี้อีก”
แท็ก ประกวด   เคมี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ