กนอ. เตรียมโรดโชว์จีน พ.ย.นี้ ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเมืองยาง เล็งเพิ่มสิทธิประโยชน์เอื้อนักลงทุนพร้อมเปิดนิคมฯปี’60

ข่าวทั่วไป Wednesday November 26, 2014 15:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--มาเธอร์ ครีเอชั่น กนอ.เตรียมโรดโชว์จีน พร้อมลงนามความร่วมมือ บริษัท รับเบอร์ แวลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ร่วมพัฒนาเครือข่ายด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยาง ชูให้สิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี ที่ไม่ขัดกฎระเบียบทางการค้า ดึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมยางไทยรับเออีซีปี 2558 ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.เตรียม ที่จะร่วมเดินทางไป กับคณะรองนายกรัฐมนตรี (มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล) นาย จักรมณฑ์ ผาสุกวานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางอรรชกา ศรีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระหว่างวันที่ 28 – 30 พฤศจิกายน 2557 ณ เมืองชิงเต่า มณฑลชานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเดินสายดึงดูดการลงทุนและศึกษาดูงานด้านการลงทุน และจะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง กนอ. และบริษัท รับเบอร์ แวลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด เพื่อสร้างความสัมพันธ์การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในอุตสาหกรรมยางรองรับการเติบโต ในกลุ่มอุตฯยางที่คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จากผลพวงจากการเข้าสู่เออีซีในปี 2558 นี้ การไปศึกษาดูงานครั้งนี้ เป็นความต่อเนื่องหลังจากที่คณะนักลงทุนจีนในกลุ่มอุตสาหกรรมยาง จากมลฑลชานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน และรับเบอร์แวลเล่ย์ ประมาณ 30 บริษัท ได้เข้ามาเยือน ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2557 เพื่อร่วมศึกษาลู่ทางและการจับคู่ธุรกิจ รวมทั้งมีการศึกษาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆของไทยที่มีศักยภาพ และเป็นการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและส่งเสริม ความร่วมมือการลงทุนในอุตสาหกรรมยางร่วมกัน “การเดินทางพบปะหารือกับนักลงทุนจีนในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนร่วมกัน ไทยยังต้องการดึงนักลงทุนจากจีนให้เข้ามามากขึ้น เนื่องจากจีนถือเป็นตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญของไทย ที่มีแนวโน้มความต้องการนำเข้ายางพาราเพื่อให้ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้น และมั่นใจว่าโครงการนี้จะเข้ามารักษาเสถียรภาพราคายาง และช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางทำให้ความต้องการใช้ยางมากขึ้น” ดร.วีรพงศ์ กล่าว สำหรับกรอบความร่วมมือในการร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้จะมุ่งเน้นในการพัฒนาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และส่งเสริมการลงทุน ระหว่าง กนอ. กับ บริษัท รับเบอร์ แวลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ( Rubber Valley) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมยางให้มีความเข้มแข็ง เนื่องจากเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบอุตสาหกรรมยางที่มีศักยภาพของมณฑลชานตง นอกจากนั้นทั้งประเทศไทย และประเทศจีนมีการร่วมดำเนินงานจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอุตสาหกรรมยาง จัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมยางให้เกิดความแข็งแกร่งและมีความพร้อมรองรับต่อการแข่งขันในอนาคตต่อไป ส่วนในด้านความคืบหน้าในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเมืองยาง (Rubber City) ในประเทศไทย เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมแปรรูปยางขั้นกลาง และปลายน้ำที่ครบวงจรต่อเนื่อง ทั้งถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ยางสำหรับรถยนต์ ท่อยางแปรรูปน้ำยางข้น ไม้ยางพารา และอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบโครงการ โดยรูปแบบจะเน้นการใช้ยางธรรมชาติเป็นวัสดุอุปกรณ์ให้มากที่สุดทั้งภายในและภายนอก คาดว่าจะสรุปหลักการเบื้องต้นในการออกแบบแล้วเสร็จได้ช่วงเดือนเมษายน 2558 ส่วนรายละเอียดพิมพ์เขียวจะออกมาในช่วงเดือนกันยายน 2558 จากนั้นจะเตรียมการก่อสร้าง และจะเริ่มเปิดดำเนินโครงการในปี 2560 ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากมีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรทั้งต้นน้ำ-ปลายน้ำ และในอนาคตจะมีเป้าหมาย ในการพัฒนาพื้นที่นิคมฯในรูปแบบดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ ในการวางแผนที่จะดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามา กนอ.พยายามที่จะเอื้อสิทธิประโยชน์ ให้แก่นักลงทุน ซึ่งการเปิดให้นักลงทุนเข้ามา กนอ.เตรียมที่จะพิจารณาในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆทางภาษี และ ไม่ใช่ภาษี โดยในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีจะดูแลในเรื่องของการสร้างระบบสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า คลังสินค้า (Ware House) ซึ่งจะต้องไม่ขัดต่อกฎระเบียบการอุดหนุนทางการค้าและเอื้อประโยชน์ ต่อการส่งเสริมการลงทุน และจะต้องประเมินศักยภาพของกลุ่มทุนที่จะเข้ามาด้วย เพราะนักลงทุนจีน เป็นกลุ่มทุนเป้าหมายสำคัญ กนอ.ได้วางแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเมืองยาง ซึ่งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ที่มีทั้งหมด 2,247 ไร่ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมเมืองยางจะอยู่ในระยะที่ 3 โดยแบ่งพื้นที่ประมาณ 755 ไร่แบ่งเป็น 2 ส่วน พื้นที่อุตสาหกรรม 566 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภค 189 ไร่ ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA จากสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ