เร่งขยายโอกาสการศึกษาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพ ด้านเครื่องมือแพทย์

ข่าวทั่วไป Thursday November 27, 2014 16:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จากปัญหาขาดแคลนบุคลากรวิศวกรรมชีวการแพทย์ในระบบสาธารณสุข รวมทั้งมูลค่าการนำเข้าอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ที่ไทยสูญเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากข้อมูลสถิติการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างเดือน มกราคม - ตุลาคม 2552 มียอดการนำเข้าเครื่องมือประเภทเครื่องตรวจวินิจฉัย 4,510 ล้านบาท ประเภทเครื่องตรวจวัด (Instruments & Appliances) 8,470 ล้านบาท ฯลฯ และมีอัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประมาณร้อยละ 9 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งคาดการณ์จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศภายในปี 2568 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33 ของประชากรทั้งประเทศเมื่อถึงปี 2593 รวมทั้งยังมีผู้ป่วยต่างชาติเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยจำนวนปีละกว่า 2 ล้านคน ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าและบริการทางการแพทย์มากขึ้นตามไปด้วย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดค่ายต้นกล้าวิศวกรรมชีวการเเพทย์ ขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 16 พ.ย. 2557 ณ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะขยายโอกาสและกระตุ้นความสนใจการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมุ่งหวังว่าการจัดค่ายครั้งนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนบุคลากรในสาขาดังกล่าวเข้าสู่ระบบสุขภาพต่อไปในอนาคต ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า หลายประเทศที่เจริญแล้ว มักปักธงกำหนดให้เรื่องการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับวิศวกรรมชีวการแพทย์เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากนวัตกรรมดังกล่าวเป็นหัวใจหลักที่สามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นได้อย่างชัดเจน และสามารถสร้างมูลค่าได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ทุกช่วงวัยและตลอดชีวิต สำหรับประเทศไทย สาขาการเรียนด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์อาจเป็นสาขาที่ยังไม่รู้จักกันมากนัก โดยวิศวกรรมชีวการแพทย์ หรือบางที่เรียกว่า ชีวเวช (biomedical engineering) หรือ วิศวกรรมการแพทย์ (medical engineering) เป็นสาขาวิชาที่นำเอาความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และความรู้ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อออกแบบ สร้างหรือพัฒนาซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน สามารถใช้งานได้จริง รวมถึงการศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อน และต้องการขั้นตอนการผลิตที่มีมาตรฐาน และ ประสิทธิภาพสูง โดยสาขานี้สามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีศักยภาพในการผลิต ควบคุมคุณภาพ และใช้อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ให้เกิดประโยชน์กับการรักษาและวินิจฉัยโรคต่างๆ “การจัดค่ายต้นกล้าวิศวกรรมชีวการแพทย์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบสุขภาพตั้งแต่ฐานราก โดยเริ่มจากการขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อให้มีการเพิ่มจำนวนของผู้ที่สนใจในสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์มากขึ้น และเชื่อว่าการจัดกิจกรรมค่ายใน 3 วันนี้ จะกระตุ้นความสนใจ เสริมสร้างความรู้และทักษะในกระบวนการทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ ซึ่งจะมีการเรียนรู้ทั้งในส่วนของภาคทฤษฎี และทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง ตลอดจนกิจกรรมพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องโดยนักเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของตนและชุมชนได้ต่อไป” ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าว รศ.ดร.มนัส สังวรศิลป์ ที่ปรึกษาและอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต กล่าวว่า ปัจจุบันสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์กำลังเป็นสาขาที่น่าจับตามอง และเป็นที่ต้องการของตลาดงานทั้งภาครัฐและเอกชน และจากงานวิจัยของ นายสุรินทร์ บำรุงผล เรื่องการคาดการณ์ประมาณกำลังคนและยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนด้านการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ พบว่า การคาดการณ์ประมาณกำลังคนด้านการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ในช่วงปี 2554 – 2559 มีความต้องการกำลังคนปีละ 11,770 – 16,261 คน ซึ่งจำนวนการผลิตบุคลากรจากภาคการศึกษายังไม่เพียงพอต่อความต้องการดังกล่าว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดความสนใจในสาขาวิชานี้ให้กว้างขวางมากขึ้น โดยการจัดค่ายครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด จำนวนมาก โดยมีนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ รวม 60 คน ทั้งนี้มีนักศึกษาและคณาจารย์จากสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.รังสิต ร่วมเป็นพี่เลี้ยงในการให้ความรู้และทักษะต่างๆ อย่างใกล้ชิดตลอดสามวันของการจัดค่ายดังกล่าว ด้าน รศ.ดร.ชูชาติ ปิณฑวิรุจน์ เลขาธิการสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า 80% ของการเรียนการสอนในสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์จะเกี่ยวกับเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อการรักษาและวินิจฉัยโรค ซึ่งในระบบสุขภาพจำเป็นมากที่จะต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์ในการรักษาและวินิจฉัยโรคที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และเกิดความคุ้มค่าในการใช้งานมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ในการวินิจฉัยโรค เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างภาพอวัยวะ (CT Scan / X-Ray / MRI) อุปกรณ์ในการประมวลผลสัญญาณทางการแพทย์ เช่น การทำงานของคลื่นหัวใจ สมอง ตา อุปกรณ์การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายต่างๆ เช่น อุปกรณ์ที่ช่วยเรื่องการเดิน การเคลื่อนไหวของร่างกาย เครื่องช่วยฟัง ระบบป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุ อวัยวะเทียม เช่น หัวใจเทียม ไตเทียม ตับเทียม ข้อเข่าเทียม กระดูกเทียม ทั้งหมดล้วนเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละอุปกรณ์ต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการได้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น การพัฒนาอุปกรณ์บางอย่างให้สามารถเชื่อมโยงการทำงานกับสมาร์ทโฟน ได้อย่างสะดวก อาทิ ปัจจุบันสามารถทำอัลตราซาวน์แล้วส่งภาพไปยังสมาร์ทโฟนได้ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ