กระทรวงเกษตรฯ รุกแผนปี’58 หนุนผู้ประกอบการใช้งานระบบตามสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ชิงความได้เปรียบสินค้าเกษตรไทยในเออีซี

ข่าวทั่วไป Thursday November 27, 2014 17:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2558 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้พัฒนาระบบการตามสอบสินค้าเกษตรสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อบันทึกข้อมูลที่ใช้ในการตามสอบสินค้าเกษตรและบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตร ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น และยังช่วยให้สามารถแก้ปัญหาความปลอดภัยอาหารได้รวดเร็วและสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา มกอช. ได้เริ่มต้นให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในเขตกรุงเทพและปริมณฑลใช้งาน แต่ในปี พ.ศ. 2558 จะมุ่งเน้นไปที่เกษตรกร ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ผัก ผลไม้) ขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในเขตจังหวัด เชียงใหม่ หนองคาย ศรีสะเกษ จันทบุรี ราชบุรี พัทลุง และจังหวัดใกล้เคียง ทั้งนี้ ในการบันทึกข้อมูลจะประกอบด้วย ข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลการปลูก การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปและดูแลรักษา การเคลื่อนและขนย้าย การควบคุมระบบความปลอดภัย ข้อมูลปริมาณการผลิต ข้อมูลชุดการผลิต ซึ่งจะทำให้สามารถตามสอบถึงแหล่งผลิตของสินค้า และแหล่งที่สินค้านั้นส่งไปจำหน่าย และสามารถแสดงรายการการเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหาได้ ด้านนายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2558 จะมีการรวมตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ทำให้มีการรวมตัวเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน โดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุนและแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี ในการนี้เพื่อความได้เปรียบของประเทศไทยจำเป็นจะต้องสร้างศักยภาพและความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตรไทย ซึ่งนอกจากจะต้องมีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยแล้ว การมีระบบการตามสอบสินค้าเกษตรสำหรับผู้ประกอบการจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของสินค้าเกษตรแก่ผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันให้ความสำคัญในเรื่องของแหล่งวัตถุดิบที่ต้องได้คุณภาพ มาตรฐาน การจัดทำระบบตามสอบนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ยังรู้สึกว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการตามสอบโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการบันทึกและจัดเก็บข้อมูลเป็นภาระที่ยุ่งยาก มีความเข้าใจในระบบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างศักยภาพและความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ ตลอดถึงเกษตรกร ในภาคการเกษตรและอาหารของไทยสามารถแข่งขันทางการค้ากับตลาดโลกและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ต่อไป นายศักดิ์ชัยฯ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ