ม.กรุงเทพ ปฏิวัติห้องสตูดิโอจากอนาล็อกสู่ดิจิทัลนำระบบเอชดีมาใช้พัฒนาฝีมือบัณฑิตเทียบมืออาชีพ

ข่าวทั่วไป Monday December 8, 2014 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยกรุงเทพชี้ปรับปรุงห้องปฏิบัติการสตูดิโอระบบความคมชัดสูง พร้อมรับยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างโอกาสให้บัณฑิตได้ปฏิบัติจริง มีมาตรฐานเทียบเท่าวงการวิชาชีพ ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ระบบความคมชัดสูงหรือระบบเอชดี เป็นระบบมาตรฐานของการออกอากาศโทรทัศน์ในปัจจุบันนี้ คณะนิเทศศาสตร์เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนตามกระแสโลก จึงทุ่มงบประมาณเปลี่ยนระบบอนาล็อกในห้องปฏิบัติการสตูดิโอเป็นระบบความคมชัดสูง ดร.พีรยา กล่าวต่อไปว่า การปรับปรุงห้องปฏิบัติการสตูดิโอเป็นระบบความคมชัดสูงมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เพราะคณะนิเทศศาสตร์ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมดเช่น กล้องวิดีโอที่รองรับระบบดิจิทัล จอแสดงผลแบบสัมผัส แผงควบคุมการจัดไฟด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และระบบตัดต่อภาพ เป็นต้นเพื่อให้อุปกรณ์เหล่านี้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับสถานีโทรทัศน์ทั่วไป และในอนาคตจะนำกล้องวิดีโอระดับอัลตร้าไฮเดฟฟินิชั่น หรือกล้องโฟร์เค ซึ่งมีความคมชัดสูงกว่าเข้ามาใช้งาน ด้านอาจารย์อิสรีย์ ประดิษฐธีระ หัวหน้าภาควิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงสาเหตุที่ปรับปรุงห้องปฏิบัติการสตูดิโอเป็นระบบความคมชัดสูงว่า หลักสูตรการเรียนการสอนของภาควิชามุ่งสร้างอัตลักษณ์ของผู้เรียนให้อยู่ภายใต้ความคิด “คอนเซ็ปชวล ดิจิทัลไลเซชั่น”เพื่อรองรับยุคดิจิทัล โดยที่นักศึกษาต้องเรียนรู้ด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถปฏิบัติงานได้เทียบเท่ากับวงการวิชาชีพ และผู้เรียนต้องเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำมาสู่การผลิตผลงานที่มีคุณภาพ อาจารย์อิสรีย์ กล่าวเพิ่มว่า การเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิทัลเป็นโอกาสในการแสดงหาประสบการณ์การทำงานของบัณฑิตด้านนิเทศศาสตร์ ซึ่งต้องติดตามความเคลื่อนไหวของวงการโทรทัศน์ เพื่อค้นหาช่องทางเข้าไปทำงานในวงการวิชาชีพนี้ “ศักยภาพของสตูดิโอทำให้นักศึกษาคล่องตัวในการทำงาน และพิถีพิถันในรายละเอียดของการทำงานมากขึ้น เพราะระบบความคมชัดสูงจะช่วยถ่ายทอดผลงานที่ชัดเจนของนักศึกษาได้” อาจารย์อิสรีย์ กล่าวในที่สุด ส่วนนางสาววิภาวี ว่องวรกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า การปฏิบัติงานในห้องสตูดิโอเสมือนกับการทำงานจริง ทำให้มีประสบการณ์ก่อนที่จะไปทำงานในวงการวิชาชีพ และอุปกรณ์ในห้องมีความทันสมัย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้อุปกรณ์ขึ้นอยู่กับความถนัดส่วนบุคคลด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ