Drama Club เอกตราสร้างนักเรียนคนเก่ง ค้นพบความถนัดและความฝัน จากกิจกรรมละครเวที

ข่าวทั่วไป Friday December 12, 2014 10:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--คอร์ แอนด์ พีค การแสดงละครเวทีภาคภาษาอังกฤษ เรื่อง “Poseidon’s Pirate” ของชมรม Drama Club แผนกมัธยม โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา โดยมีนักเรียนร่วมแสดงกว่า 60 คน และทีมงานเบื้องหลังซึ่งเป็น ครูไทย ครูต่างชาติ และนักเรียนอีกหลายสิบคน ได้เปิดทำการแสดงไปแล้ว เมื่อวันที่ 21-22 พ.ย.ที่ผ่านมา สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมและผู้ปกครองเป็นอย่างมาก จากละครเวทีเรื่องนี้ทำให้ได้พบเพชรเม็ดงามของโรงเรียน ซึ่งทำหน้าที่เขียนบทละครเวทีและร่วมกำกับการแสดง เพชรเม็ดนี้มีชื่อว่า นายอิสระ รายรัตน์ นักเรียนชั้น ม.6 ประธานชมรม Drama Club โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา นายอิสระ รายรัตน์ เล่าว่า “Drama Club แผนกมัธยมโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา จะต้องมีผลงานการแสดงละครเวที ปีละ 1 เรื่อง ซึ่งนักเรียนตั้งแต่ชั้น ม.1 – ม. 6 จะได้มีโอกาสแสดงละครร่วมกัน โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนได้ใช้ทักษะศิลปะการแสดงรอบด้าน และในปีนี้ ทาง Drama Club ได้รับโจทย์ให้นำเพลงบรรเลง Pirates of the Caribbean มาเป็นเพลงประกอบละครเวที แรกเริ่มที่ผมได้ฟังเพลงบรรเลง Pirates of the Caribbean ผมคิดถึงอารมณ์ของการผจญภัยปนความเศร้า นึกไปถึงตัวละคร แจ็ค สแปร์โรว์ โจรสลัดสมัยโบราณ และ แจ็ค ดอว์สัน พระเอกหนังเรื่องไททานิค ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเขียนบทละคร โดยในตอนแรกผมได้นำทั้งสองเรื่องมาผสมกัน แต่เนื้อเรื่องไม่สามารถไปด้วยกันได้ จนวันหนึ่งผมได้สังเกตเห็นว่า ในโรงเรียนมีรูปปั้นเทพเจ้าและมีการออกแบบอาคารในแนวศิลปะโรมัน จึงเกิดแนวคิดว่าน่าจะทำละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทพเจ้า จึงได้ไปปรึกษากับอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านบทละคร จนสรุปมาเป็นละครเวทีเรื่อง Poseidon’s Pirate ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทพแห่งมหาสมุทรในยุคที่มีการใช้เวทมนตร์ปกครองโดย เหล่าทวยเทพ ซึ่งผมได้เขียนเนื้อเรื่องขึ้นมาใหม่ ให้เป็นเนื้อเรื่องที่เข้าใจง่าย แต่ทรงพลัง โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยช่วยปรับเนื้อหาให้เหมาะสม จากนั้นจึงเริ่มต้นศึกษาและค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนในสมัยกรีกโบราณจนได้ไปพบชื่อ “เอลยุส” และเมื่อสืบค้นหาไปเรื่อยๆ ก็พบว่า “เอลยุส” เป็นชื่อลูกชายของ “โพไซดอน” เนื้อเรื่อง Poseidon’s Pirate นั้น “โพไซดอน” เป็นเทพเจ้าผู้ปกครองดินแดนแห่งท้องทะเลและมหาสมุทร มีบุตรเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ชื่อว่า “เอลยุส” เขาเติบโตมาเป็นโจรสลัดและต้องไปค้นหาไข่เวทมนตร์ที่สร้างพลังให้แก่ โพไซดอน เอลยุสต้องออกเดินทางตามหากุญแจวิเศษเพื่อนำไปไขประตูสู่ไข่เวทมนตร์ ซึ่งในการเดินทางนั้นต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มากมาย” นอกเหนือจากที่ได้เขียนบทละครแล้ว นายอิสระ รายรัตน์ ยังได้ร่วมออกแบบท่าเต้นให้กับเพื่อนๆ นักแสดงในชมรม Drama Club และร่วมกำกับการแสดงและช่วยดูแลงานเบื้องหลังด้วย โดยใช้เวลาในช่วงเช้าและหลังเลิกเรียน ซ้อมการแสดง นายอิสระ เล่าว่า “ ตัวผม ทีมงาน และนักแสดงต้องทำงานแข่งกับเวลามาก เพื่อนนักเรียนที่ร่วมแสดงในครั้งนี้มีตั้งแต่ชั้น ม.1- ม.6 ทุกคนมีความตั้งใจฝึกซ้อม ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก แต่ก็ได้รับกำลังใจที่ดีจากทุกฝ่าย ทั้งครูและเพื่อนนักเรียนที่ร่วมแสดง ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมต้น เวทีการแสดงของชมรม Drama Club ทำให้ผมได้ค้นพบความสามารถ ความถนัดที่ซ่อนอยู่ในตัวผม ผมค้นพบว่า ผมชอบศิลปะการแสดง ชอบการแก้ไขปัญหา ผมชอบให้มีปัญหาเข้ามา เพื่อจะได้เรียนรู้หาวิธีแก้ไข ชอบการประสานงานกับเพื่อนที่ไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน ทำให้มีการปรับทัศนคติระหว่างกัน ยอมรับคำแนะนำของผู้อื่น ทำให้งานทุกอย่างเดินหน้าได้อย่างลงตัวและอีกนิสัยหนึ่งของผมก็คือ การใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งผมจะมีวิธีการแก้ปัญหาให้เกิดความสมดุลให้มากที่สุด” นายอิสระ รายรัตน์ ได้กล่าวถึงการวางแผนในอนาคตไว้ว่า “ถึงตอนนี้ผมรู้แล้วว่าผมชอบอะไร จึงได้มีการวางแผนอนาคตเกี่ยวกับการเรียนไว้ โดยได้พูดคุยกับคุณแม่ซึ่งท่านจะคอยเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ พร้อมทั้งจดบันทึกและในบันทึกนั้นบอกไว้ว่า ผมชอบเป็นนักบริหาร ดังนั้นเมื่อผมได้เรียนรู้เรื่องการกำกับการแสดง การเขียนบทละคร รวมถึงการบริหารทีมงานนักแสดง จนงานทุกอย่างสำเร็จลุล่วงแล้ว ต่อไปผมจะมุ่งมั่นเรียนทางด้านการบริหารจัดการด้วยเพราะจากการทำงานในครั้งนี้ ทำให้ผมประทับใจ ที่ได้จัดการแก้ปัญหาให้กับส่วนรวม จนตอนนี้ผมได้ค้นพบอาชีพในฝันของผมแล้ว” อาจารย์บุษรารัตน์ เกิดเพิ่มพูล รองผู้อำนวยการ โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา แผนกมัธยม กล่าวว่า “ชมรม Drama Club เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2551 ซึ่งในตอนแรกเป็นเพียงแผนกเล็ก ๆ ที่มีสมาชิก 15 คนเท่านั้น ช่วงนั้นมีอาจารย์ชาวต่างชาติที่มีความสามารถด้านศิลปะการแสดงเข้ามาสอนที่โรงเรียน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกฝนทักษะรอบด้านของศิลปะการแสดง ทั้งการร้อง การเต้น การเขียนบท และการแสดงที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ประกอบกับทางโรงเรียนได้นำแนวคิดทฤษฎีพหุปัญญามาเป็นแนวทาง ทำให้พบว่านักเรียนของโรงเรียนสารสาสน์เอกตราหลายคนที่จบออกไป ส่วนมากจะค้นพบตัวเองว่า ชอบอะไร จากการได้ร่วมกิจกรรมแสดงละคร Drama เช่นเดียวกับ นายอิสระ รายรัตน์ ประธานชมรม Drama Club ที่ค้นพบตัวเองว่า ชอบศิลปะการแสดงและการบริหารจัดการ ทั้งนี้ก็จะมีนักเรียนบางคนที่มีความสามารถและเก่งหลายด้าน ทั้งภาษาอังกฤษ ศิลปะการแสดง และการเรียนควบคู่กันไป ซึ่งนักเรียนเหล่านี้ก็จะต้องหาแนวทางหรือจุดเด่นของตัวเองที่ชอบมากที่สุดเพื่อต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคตต่อไป”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ