แพทย์สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ เตือน เด็กไทยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กสูง

ข่าวทั่วไป Tuesday December 16, 2014 10:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--คอร์ แอนด์ พีค แพทย์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เตือนเด็กไทยประสบปัญหาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังพบได้บ่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ ศ.คลินิก พญ.ศรีศุภลักษณ์ สิงคาลวณิช อุปนายกด้านบริการทางการแพทย์และสังคม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาพบว่าผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังพบได้บ่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบันแตกต่างจากอดีต ทารกกินนมแม่ลดลง ปํญหาเด็กทารกแพ้นมวัวเพิ่มขึ้น การบริโภคอาหารเหมือนในประเทศตะวันตก ได้แก่ รับประทานอาหารประเภทจั๊งค์ฟู้ด (Junk Food) ซึ่งเป็นอาหารที่ไม่ค่อยมีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด มันฝรั่งทอด พิซซ่า เป็นต้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตลูกน้อย ว่าผิวของลูกนั้นแห้ง มีผื่นแดง ๆ หรืออักเสบ โดยเฉพาะบริเวณแก้ม หน้าผาก จนลูกต้องเกาๆ เพราะคัน หรือเปล่า หากพบอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุ และยับยั้งการลุกลามได้อย่างทันท่วงที ศ.คลินิก พญ.ศรีศุภลักษณ์ กล่าวว่า โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic czema) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งพบได้บ่อยในเด็ก ในประเทศไทยเราพบว่าเด็กเป็นโรคนี้ร้อยละ 10-20 ซึ่งร้อยละ 85 อาการจะเกิดก่อนอายุ 5 ปี โดยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ไม่ใช่เกิดจากความสกปรก มักเป็น ๆ หาย ๆ และมีอาการคัน โดยทั่วไปผู้ป่วยอาจจะมีประวัติภูมิแพ้ผิวหนัง หรือภูมิแพ้ในระบบต่างๆในครอบครัว ร่วมด้วย เช่น หอบหืด, แพ้อากาศ , เยื่อบุจมูกอักเสบ , เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น หรืออาจจะไม่มีประวัติใครในครอบครัวเป็นโรคนี้ก็ได้ สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่นอน แต่พบว่าอาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมของพ่อหรือแม่ หรือทั้งคู่ ถ้าทั้งพ่อและแม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ทั้งสองคน โอกาสที่ลูกจะเกิดผื่นผิวหนังภูมิแพ้ จะสูงกว่าที่คนใดคนหนึ่งเป็นโรค นอกจากนั้นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมก็มีผลเช่นกัน โดยเฉพาะเป็นเหตุกระตุ้นให้ผื่นเห่อมากขึ้น เช่น ความร้อน ความเย็น อากาศที่แห้ง สารระคายเคือง สารชะล้าง ซักฟอก หรืออาหารบางชนิดเช่นนมวัว หรือโรคติดเชื้อโดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียสามารถกระตุ้นให้ผื่นเห่อมากขึ้นได้ และสาเหตุสุดท้ายอาจมาจากภูมิคุ้มกัน หรือภูมิต้านทานของเด็ก เป็นต้น ส่วนลักษณะอาการของโรคที่สำคัญ คือ เด็กจะมีผิวที่แห้งจนเป็นขุย ถ้าผิวหนังอักเสบก็จะเกิดรอยโรคเห่อแดง อาจมีน้ำเหลืองร่วมด้วย ส่วนตำแหน่งของโรคก็จะแตกต่างกัน เด็กเล็กๆ จะพบผื่นบริเวณ แก้ม แขน ขา หรือ ข้อมือ ข้อเท้า และเด็กโต ก็จะพบตามข้อพับแขนและขาทั้งสองข้าง และเด็ก ๆ จะรู้สึกคันเป็นอย่างมาก และแม้ว่าการเกาจะทำให้หายคันได้เพียงชั่วขณะ แต่จะทำให้เกิดรอยถลอกที่ผิว ซึ่งจะทำหน้าที่ในการป้องกันของผิวหนังลดลง สารระคายเคืองและสารก่อภูมิแพ้จึงซึมสู่ผิวหนังได้มากขึ้น แล้วเด็กก็จะคันมากขึ้นกว่าเดิม และเริ่มต้นวงจรของการ คัน – เกา – ผื่นแพ้ ศ.คลินิก พญ.ศรีศุภลักษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า พ่อและแม่ต้องหมั่นดูแลลูกน้อยด้วยการดูแลผิวหนัง อาบน้ำ ทายาให้ความชุ่มชื่น ทายาลดการอักเสบ หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และตัวกระตุ้น เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ยา หรืออาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อย อย่างเช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ถั่ว อาหารทะเล แป้งสาลีและไข่ ให้ลูกกินยาลดอาการคัน และคอยระวังการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม เลือกใช้เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงจากควันบุหรี่ กำจัดฝุ่นภายในบ้าน หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ที่มีขน อย่าให้เด็กน้อยอยู่ในที่ร้อนจัด หรือมีความชื้น ในเรื่องของยาที่ใช้ทาภายนอกนั้น คุณหมอจะให้เป็นยาทาสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาที่ดี ใช้ในรายที่มีผื่นอักเสบ เห่อ แดง คัน ซึ่งยานี้มีหลายชนิด ตั้งแต่ระดับอ่อน ปานกลาง และแรง แต่ต้องไม่ใช้ติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ผลข้างเคียงเฉพาะที่จะทำให้ผิวบาง ขนยาว ถ้าใช้เป็นบริเวณกว้างและติดต่อเป็นเวลานาน อาจดูดซึมและกดการเจริญเติบโตได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ ไม่ควรซื้อยาใช้เอง ทีนี้เราก็รู้แล้วว่าโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในเด็ก มักจะเป็นๆหายๆ ซึ่งจะค่อยๆดีขึ้น และรุนแรงน้อยลงเมื่อลูกน้อยเริ่มเติบโตขึ้น แต่ก็จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้อื่น ๆ เมื่อโตขึ้นเช่นกัน ณ เวลานี้คุณแม่ควรให้ลูกน้อยกินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน ไม่ควรให้อาหารเสริมก่อน 6 เดือน หากครบ 6 เดือนแล้วก็ให้อาหารเสริมทีละอย่าง และคอยสังเกตการกำเริบของผื่น ตลอดจนการดูแลสุขภาพผิวของเด็กๆอย่างถูกต้องและเหมาะสมโดยคุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งคอยติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกน้อยอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขเมื่อยามเติบโต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ