PwC แนะธุรกิจครอบครัว ‘ยกเครื่อง’ บริหารบ้านและงานอย่างมืออาชีพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 16, 2014 17:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--PwC ประเทศไทย PwC ประเทศไทย ชี้ธุรกิจครอบครัวทั่วโลกเผชิญปัญหาการบริหารงานขาดความเป็นมืออาชีพ แนะยกระดับการพัฒนาองค์กร เน้นสร้างนวัตกรรมใหม่ พร้อมวางระบบบริหาร เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ชี้การบริหารธุรกิจกงสีแบบเก่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและการส่งต่อกิจการสู่ทายาทรุ่นลูกหลานในอนาคต ส่วนธุรกิจครอบครัวในไทยต้องเร่งปรับตัวทั้งการบริหารงานและเปลี่ยนโฉมธุรกิจให้ทันยุคดิจิตอล เพื่อเตรียมก้าวสู่เวทีเออีซีปลายปี 58 นาย ขจรเกียรติ อรุณไพโรจนกุล หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เปิดเผยถึงผลการศึกษา Up close and professional: the family factor ที่ทำการสำรวจผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจครอบครัว จำนวน 2,378 ราย ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก พบว่า ผู้บริหารธุรกิจครอบครัวทั่วโลกยังคงเผชิญกับปัญหาการปฏิรูปธุรกิจครอบครัว โดยผู้ประกอบการถึง 40% มองว่า การจัดโครงสร้างบริหารอย่างมืออาชีพ จะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจครอบครัวในอีก 5 ปีข้างหน้า “ธุรกิจครอบครัวทั่วโลก มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับกระบวนการทำงาน พัฒนาจริยธรรม รวมทั้งทักษะในการประกอบธุรกิจทั้งในด้านการบริหารจัดการองค์กร และสมาชิกภายในครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสร้างจุดแข็ง และสร้างความได้เปรียบจากบริษัทคู่แข่ง” นาย ขจรเกียรติ กล่าว “ผู้บริหารต้องคิดใหม่ ทำใหม่ และต้องทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างความเป็นเจ้าของกับการบริหาร หากต้องการให้ธุรกิจของตนอยู่ทน อยู่รอด ที่สำคัญคือ อยู่ได้อย่างรู้เท่าทันสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน” ทั้งนี้ ผลสำรวจ PwC ประจำปีครั้งที่ 7 ระบุว่า ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลกระทบต่อตลาดส่งออก รวมทั้งการเฟ้นหา รักษาบุคลากรหรือทาเลนต์ และการส่งต่อความเป็นเจ้าของ เป็นความท้าทายหลักที่ธุรกิจครอบครัวกำลังเผชิญ นายขจรเกียรติ กล่าวต่อว่า การแข่งขันที่ทวีความรุนแรง และ แรงกดดันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าและบริการแบบไม่มีขีดจำกัด ยิ่งเป็นแรงผลักให้ธุรกิจครอบครัวต้องปรับตัวเองให้ทันการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ปัจจัยแวดล้อมธุรกิจครอบครัว ผลสำรวจระบุว่า 65% ของธุรกิจครอบครัวที่ถูกสำรวจมีการรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้บริหารกว่า 70% คาดว่าธุรกิจของตนจะเติบโตได้อย่างมั่นคงในอีก 5 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจครอบครัวยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจโลก และเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนสังคมและระบบเศรษฐกิจ โดยมีธุรกิจและรายได้รวมกันคิดเป็น 70-90% ของจีดีพีโลก นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารอีก 15% ที่มีแผนที่จะขยายกิจการ (Business expansion) ของตน โดยธุรกิจครอบครัวที่มีความต้องการที่จะขยายกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจครอบครัวในประเทศจีน (57%) ตะวันออกกลาง (40%) และ อินเดีย (40%) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของบรรดาเจ้าของกิจการครอบครัวในปีนี้ คือ การดูแลรักษาให้กิจการของตนยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และ การสร้างผลกำไรที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ความท้าทายภายในองค์กรของธุรกิจครอบครัว 3 อันดับแรก ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ (64%) การดึงดูดพนักงานที่มีทักษะ (61%) และ การรักษาทาเลนต์ให้อยู่กับองค์กร (48%) ในขณะที่ การแข่งขันทางด้านราคา (58%) สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (56%) และการแข่งขันทางธุรกิจ (42%) ถูกจัดให้เป็นความท้าทายภายนอกองค์กร 3 อันดับแรก “เรามองว่า ในอนาคตธุรกิจครอบครัวจะประกอบกิจการแบบมืออาชีพอย่างเดียวยังไม่พอ วันนี้โจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการ คือ การบริหารต้องอาศัยแนวทาง Family factor หรือปัจจัยของครอบครัวด้วย คือ ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัว ยึดมั่นในธรรมนูญครอบครัว รวมไปถึงวางโครงสร้างในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ให้ชัด และมีช่องทางการสื่อสารที่ต่อเนื่องและเป็นระบบ” นาย ขจรเกียรติ กล่าว แนวโน้มการส่งออก ผลสำรวจระบุว่า ซีอีโอธุรกิจครอบครัวที่ถูกสำรวจถึง 68% ส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศในปัจจุบัน โดยยอดขายจากต่างประเทศคิดเป็นหนึ่งในสี่ของผลกำไรทั้งหมดของบริษัท ในขณะที่ 75% คาดจะยังส่งออกสินค้าอย่างต่อเนื่องในช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า โดยบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่มีรายได้อยู่ในระดับ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไปและอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) และเกษตรกรรม (Agriculture) ธุรกิจครอบครัวที่มีความต้องการในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจครอบครัวที่ประกอบกิจการอยู่ในตลาดยุโรปตะวันออก กลุ่มเศรษฐกิจ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) และกลุ่มประเทศ MINT ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหม่ของเศรษฐกิจโลก ประกอบด้วย เม็กซิโก อินโดนีเซีย ไนจีเรีย และตุรกี อย่างไรก็ดี นาย ขจรเกียรติยังกล่าวว่า มีแนวโน้มที่ธุรกิจครอบครัวทั่วโลกที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ๆจะมีจำนวนลดลง โดยส่วนใหญ่ยังปักหลักส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน หรือตลาดที่ใช้ภาษาหรือมีวัฒนธรรมที่เหมือนหรือใกล้เคียงกัน ทั้งนี้เป็นเพราะการขาดทักษะหรือความมั่นใจในการเข้าสู่ตลาดภูมิภาคใหม่ๆ ประกอบกับมีธุรกิจครอบครัวหลายรายที่กลัวว่า ตนต้องจ้างคนนอกองค์กรเข้ามาบริหาร ทำให้พลาดโอกาสที่จะแสวงหาผลกำไรหรือโอกาสในการขยายกิจการใหม่ๆไปโดยปริยาย หนทางสู่การสืบทอดกิจการ เมื่อกล่าวถึงประเทศไทย นาย ขจรเกียรติ กล่าวว่า การวางแผนสืบทอดกิจการยังคงเป็นปัญหาหลักของธุรกิจครอบครัวไทยในระยะข้างหน้า แม้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะบอกว่าตนเล็งเห็นความสำคัญของการส่งต่อความเป็นเจ้าของไปสู่รุ่นลูกหลานซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มในระดับโลกที่พบว่า 53% ของธุรกิจครอบครัว มีแผนสืบทอดกิจการในตำแหน่งสำคัญๆ แต่มีบริษัทเพียง 16% เท่านั้น ที่มีการพูดคุยถึงแผนและมีการจดบันทึกกันอย่างจริงจัง “เป็นที่น่าสนใจว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ มีธุรกิจครอบครัวที่ต้องการส่งต่อความเป็นเจ้าของ แต่ไม่ส่งต่อการบริหารให้แก่รุ่นต่อไป ซึ่งหลายบริษัทกำลังให้ความสนใจพิจารณาแนวทางนี้เป็นทางเลือกเช่นกัน” นาย ขจรเกียรติ กล่าว “นอกจากนี้ แนวโน้มที่เราจะได้เห็นกันอย่างต่อเนื่องในอนาคต คือ การมีโปรแกรมเพื่อจะขัดเกลาทายาทให้ได้เข้ารับการฝึกทักษะในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพ และเตรียมความพร้อมก่อนรับช่วงการบริหารธุรกิจต่อจากรุ่นพ่อ-แม่ หรือในบางรายให้ออกไปหาประสบการณ์การทำงานกับบริษัทอื่นก่อนที่จะมาสวมหมวกเป็นผู้บริหารกิจการครอบครัวของตนต่อไป” ผลสำรวจยังระบุว่า ซีอีโอกิจการครอบครัวถึง 72% ยอมรับว่าตนต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียเปรียบหรือถูกครอบงำจากคู่แข่ง โดยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีถือเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ (Megatrends) สำคัญของโลก ที่จะเข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนโฉมหน้าในการทำธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า นาย ขจรเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ความท้าทายในระดับภูมิภาคของธุรกิจครอบครัวไทยที่สำคัญอีกประการ คือการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 เพราะนอกจากจะเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ การขยายฐานลูกค้า และตลาดแรงงาน แต่ในอีกมุมหนึ่ง คือ การแข่งขันที่เปิดกว้างมากขึ้น คู่แข่งจะไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศเหมือนอดีต ดังนั้น ธุรกิจครอบครัว รวมไปถึงผู้ประกอบการ SME ต้องเริ่มวางแผน หาโอกาสในการระดมทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน “แม้ว่าไทยจะมีความสามารถหลายๆ ด้าน ที่เพียงพอต่อการแข่งขันในระดับภูมิภาค แต่ธุรกิจครอบครัวไทยต้องไม่หยุดที่จะต้องพัฒนาตนเอง และผลักดันให้องค์กรของตนก้าวขึ้นมาสู่ตลาดสากลอย่างแข็งแกร่ง พร้อมทั้งเติบโตไปอย่างอย่างยั่งยืนให้ได้”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ