ร.ร.สตรีมารดาฯ น้อมนำพระราชดำรัสฯ ปลูกความคิดคนรุ่นใหม่ แก้ปัญหาเด็กไทยคิดวิเคราะห์ไม่เป็น

ข่าวทั่วไป Wednesday December 17, 2014 10:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ มูลนิธิสยามกัมมาจล ทักษะ “การคิดวิเคราะห์” ยังเป็นจุดอ่อนของเด็กไทยมาต่อเนื่องยาวนาน ผลตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการครั้งล่าสุดปี 2557 ยอมรับว่าเด็กไทยยังมีทักษะการคิดวิเคราะห์ต่ำ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาอย่างจริงจัง จากปัญหาข้างต้นนี้ โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จ.จันทบุรี เป็นโรงเรียนหนึ่งที่เล็งเห็นปัญหา และได้น้อมนำเอา “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหา – พัฒนา ทักษะ “การคิด” ให้แก่ลูกศิษย์ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา จนทุกวันนี้ความพยายามได้ผลิดอกออกผล ครูบุญยรัตน์ ลมงาม หรือ ครูนก หัวหน้างานเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จ.จันทบุรี เล่าว่าโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน โดยเริ่มต้นจากตัวครูศึกษาทำความเข้าใจ และนำไปใช้จริงกับตัวเองก่อนเป็นที่แรก ในส่วนของครูนก เศรษฐกิจพอเพียงทำให้ครูนกเปลี่ยนจากเป็นคนใจร้อน ยึดมั่นในความคิดของตัวเอง และเป็นคนพูดตรงจนกระทบจิตใจผู้อื่น มาเป็นคนที่ใจเย็นลง มีท่าทีการสื่อสารกับผู้อื่นด้วยน้ำเสียงและถ้อยคำที่นุ่มนวลขึ้น ในด้านการทำงานก็เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนทำงานสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง เพราะขาดกระบวนการทำงานที่ดี มาเป็นหยุดและตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่าเรารู้เรื่องที่เราทำมากน้อยแค่ไหน ต้องหาความรู้อะไรเพิ่มเติม เมื่อเลือกที่จะทำแล้วก็ต้องทำอย่างพอดี มีเหตุผล มีการวางแผน และมีคุณธรรม งานที่ได้จึงสำเร็จ เมื่อพิสูจน์ผลกับตัวเองจนคณะครูมั่นใจแล้วจึงเริ่มปลูกฝังแก่ลูกศิษย์ โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ได้มอบหมายให้ครูทุกคนน้อมนำพระราชดำรัสไปออกแบบการเรียนการสอนสอดแทรกลงสู่ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ พร้อมๆ กับการติดตามประเมินผลทั้งผู้เรียนและครูผู้สอน สำหรับ “กิจกรรมนอกห้องเรียน” ครูนกในฐานะหัวหน้างานเศรษฐกิจพอเพียงได้เปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงผ่านการลงมือทำ ได้ฝึกคิด ฝึกทำงานในสถานการณ์จริง ยกตัวอย่างการเข้าร่วมค่ายเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียงจัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ในค่ายเด็กๆ เลือกทำโครงการจิตอาสาสอนภาษาอังกฤษให้น้องนักเรียนชั้น ป. 3-4 โรงเรียนวัดไผ่ล้อม จ.จันทบุรี เพื่อให้น้องๆ เกิดทัศนคติที่ดีต่อวิชาภาษาอังกฤษ “หลังจากสอนให้เด็กรู้จักเศรษฐกิจพอเพียงว่าคืออะไร ประกอบด้วยอะไรแล้ว เราต้องพยายามผลักดันให้เขาได้นำไปใช้ ได้ลงมือทำเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น แล้วเราก็กลับมาพูดคุยกันทุกครั้งจนเป็นนิสัย ระหว่างนี้ครูนกก็จะคอยสังเกตและตั้งคำถามกระตุ้นให้เขาคิด คอยย้ำและเติมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อไม่ให้เขาหลุด เช่นเวลาเขาจะไปสอนภาษาอังกฤษให้น้อง เขาต้องมีเงื่อนไขความรู้ ครูก็จะถามเขาว่าเนื้อหาที่จะไปสอนมีอะไรบ้าง ตัวเองมีความรู้ไปสอนไหม รู้นิสัยของน้องๆ ที่จะไปสอนหรือไม่ น้องมีกี่คน เราต้องเตรียมอะไรไปบ้าง ก่อนเข้าไปสอนเราได้เข้าไปปรึกษาผู้อำนวยการโรงเรียนของน้องหรือยัง หรือเรื่องความพอประมาณ เราจะสอนน้องเวลาไหน สอนครั้งละกี่ชั่วโมง การเดินทางไปสอน ระยะทางไกลเกินไปหรือเปล่า แล้วเราจะสอนน้องลึกแค่ไหน พอประมาณกับวัตถุประสงค์ที่เราตั้งใจหรือไม่” ครูนกเล่า ด้วยความพากเพียรของครูผู้สอน ผลลัพธ์จึงเกิดเป็นดอกผลที่ตัวศิษย์ น้องลีน่า ชวนา สุทธินราธร นักเรียนชั้น ม. 6 สะท้อนว่าการทำโครงการสอนภาษาอังกฤษให้น้องๆ โรงเรียนวัดไผ่ล้อมเป็นสนามฝึกซ้อมการใช้เศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เป็นคนคิดวิเคราะห์มากขึ้น “อย่างแรกคือเราต้องคำนึงถึงศักยภาพของตัวเราเองก่อน เช่นพวกเราได้มีโอกาสเรียนภาษาอังกฤษกับทางโรงเรียน ได้ฝึกพูดฝึกแสดงออก สามารถสื่อสารในสำเนียงที่ถูกต้อง เราก็อยากใช้ศักยภาพที่มีแบ่งปันให้น้องๆ เศรษฐกิจพอเพียงยังทำให้เราทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น คือรู้จักวางแผน ป้องกันความเสี่ยง ยกตัวอย่างการเตรียมน้องอาสาที่จะมาช่วยสอนภาษาอังกฤษ เราก็ต้องเตรียมเขาก่อน อธิบายให้น้องเข้าใจโครงการ รู้รายละเอียด รู้วัตถุประสงค์ รู้ลำดับขั้นตอนกิจกรรมว่าเราจะทำอะไร มีรายละเอียดอย่างไร” น้องลีน่าเล่า ด้าน น้องเพื่อน ธัญญพัทธ์ อัครพันธุ์ทวี จากชั้น ม. 5 ร่วมสะท้อนว่าเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าใจความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงจากครูนกและเศรษฐกิจพอเพียงก็ช่วยให้เพื่อนมีกระบวนการคิดที่ดีขึ้น “ตอนที่หนูย้ายมาอยู่โรงเรียนนี้ตอน ม.3 คุณครูให้ถอดบทเรียนเศรษฐกิจพอเพียงจากการทำงาน หนูก็ไม่รู้จักว่าคืออะไร ขณะที่เพื่อนคนอื่นเขาทำกันได้สบายๆ เหมือนเป็นชีวิตประจำวัน เราก็พยายามค้นหาความหมาย ถามกูเกิ้ลๆ ก็ตอบเราไม่ได้ กลับไปนั่งคิดเองแต่คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก คิดวนไปวนมาว่ามันคือการประหยัดเหรอ มันคือการรีไซเคิลเหรอ มันคือการทำสวนปลูกพืชหรือเปล่า จนกระทั่งครูนกได้ชวนหนูคุยแล้วก็ไปสะดุดกับประโยคๆ หนึ่งที่ครูนกบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงมันไม่ใช่การที่เราไปปลูกผัก หรือทำไร่นะ แต่มันคือหลักคิดที่เรานำไปใช้ในชีวิตประจำวันทุกวัน” น้องเพื่อนเล่าและเสริมว่าเมื่อเข้าใจแล้วก็ได้นำไปใช้ทั้งในชีวิตการเรียน และเรื่องของความรัก “ตอนนี้หนูใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับทุกเรื่องเลยนะคะ ทั้งเรื่องการเรียน และเรื่องความรัก อย่างเรื่องความรัก พ่อแม่ก็ทราบว่าเราคบกันอยู่ เรื่องเวลาเราต้องแบ่งให้ถูกเพราะว่าเราจะไปรักเขาอย่างเดียวแล้วไม่เรียนก็ไม่ได้ อนาคตก็จะเสียหายทั้งคู่ พ่อแม่ของเราก็จะต่อว่าเขา ดังนั้นถ้าจะคุยโทรศัพท์ก็ต้องทำการบ้านให้เสร็จ และก็ต้องตั้งเวลาไว้ว่าเท่านี้ถึงเท่านี้นะ ให้เหตุผลเขาว่าเพราะเธอต้องพักผ่อนแล้วตื่นเช้านั่งรถประจำไปโรงเรียน” น้องเพื่อนเล่าตัวอย่างการน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นเครื่องมือการคิดวิเคราะห์ในการใช้ชีวิตประจำวันปิดท้าย ปัจจุบัน โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ เป็น 1 ใน 47 ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นศูนย์ขยายผลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงแก่โรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ เป้าหมายเพื่อสร้างบุคลิกของเด็กไทยรุ่นใหม่ให้เป็นผู้มีอุปนิสัยพอเพียง รู้จักการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล มีความสุข ท่ามกลางสังคมไทยและสังคมโลก ที่นับวันจะยิ่งมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้นในทุกขณะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ