สถานการณ์ SMEs เดือน ต.ค. ดีขึ้นต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 17, 2014 15:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--สสว. สสว. เผยสถานการณ์ SMEs เดือน ต.ค.2557 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขส่งออกเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.64 เช่นเดียวกับการจัดตั้งกิจการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.31 ผลจากการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น เชื่อมั่นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งลดภาษี SMEs ตั้งกองทุนร่วมลงทุน ฯลฯ จะช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้ SMEs และเศรษฐกิจประเทศตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์ SMEs ในเดือนตุลาคม และช่วง 10 เดือน ปี 2557 (มกราคม-ตุลาคม) พบว่า สถานการณ์ SMEs โดยภาพรวมฟื้นตัวมากขึ้น ผลจากการบริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะกำลังซื้อของกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง การลงทุนภาคเอกชนทั้งในหมวดก่อสร้างและหมวดเครื่องจักรอุปกรณ์ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งในเดือนตุลาคม มีการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐจำนวน 367.6 พันล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.3 ขณะที่สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวน 2.18 ล้านคน ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน คิดเป็นร้อยละ 6.1 และ 12.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 67.0 เหตุเพราะมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองของไทย รวมถึงผลจากการที่ประเทศไทยยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าชั่วคราวในช่วงระหว่างวันที่ 9 ส.ค.-8 พ.ย. 2557 นอกจากนี้ระดับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญมีการฟื้นตัว เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศของ SMEs พบว่า การส่งออกในเดือน ต.ค. มีมูลค่า 162,368 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 8.64 และหดตัวลงจากเดือน ก.ย. คิดเป็นร้อยละ 0.39 ขณะที่ช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 1,607,939 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 8.49 ตลาดหลักที่ SMEs ไทยส่งออกสินค้ามากที่สุดในเดือน ต.ค. ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 41,453.69 ล้านบาท รองลงมาคือ จีน มูลค่า 21,463.73 ล้านบาท กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 18,555.70 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 16,885.54 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 14,216.31 ล้านบาท ทั้งนี้ พบว่าการส่งออกไปทุกตลาดหลักขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรปที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 25.1 เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่จะมีการยกเลิกให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) กับประเทศไทยในปี 2558 สำหรับสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุดในเดือน ต.ค. ได้แก่ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก รองลงมาคือ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ โดยหมวดสินค้าสำคัญที่มีอัตราการขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ หมวดน้ำตาล ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 102.4 รองลงมาคือ หมวดธัญพืชและข้าว และหมวดยานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 91.7 และ 32.6 ตามลำดับ ในส่วนการนำเข้าของ SMEs เดือน ต.ค. มีมูลค่า 193,249 บาท หดตัวลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 0.77 และ 12.13 ขณะที่ช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) การนำเข้าอยู่ที่ 1,834,688 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 8.92 ตลาดที่ SMEs นำเข้าสินค้าในเดือน ต.ค. สูงสุด ได้แก่ จีน มูลค่า 58,637.60 ล้านบาท รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 30,440.88 ล้านบาท กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 27,375.75 ล้านบาท กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 22,916.49 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 12,415.64 ล้านบาท สำหรับสินค้าที่ SMEs นำเข้าสูงสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รองลงมาคือ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็กและเหล็กกล้า และพลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เมื่อพิจารณาด้านการจัดตั้งและยกเลิกกิจการในเดือน ต.ค. พบว่า กิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีจำนวน 5,384 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 2.31 แต่หดตัวลงเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 11.43 ขณะที่ช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) มีกิจการจัดตั้งใหม่จำนวน 51,725 ราย หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 13.79 ประเภทกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุดในเดือน ต.ค. ได้แก่ ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ภัตตาคาร/ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย ขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ ตามลำดับ ส่วนการจดทะเบียนยกเลิกกิจการในเดือน ต.ค. มีจำนวน 1,641 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 3.79 บาท แต่หดตัวลงเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 0.12 ส่วนในช่วง 10 เดือนแรก มีการยกเลิกกิจการรวม 11,847 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 7.02 ประเภทกิจการที่ยกเลิกมากที่สุดในเดือน ต.ค. ได้แก่ ขายสลากกินแบ่ง ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย การให้คำปรึกษาด้านการจัดการ อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย และภัตตาคาร/ร้านอาหาร ตามลำดับ อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล่าสุด ซึ่งกระทรวงการคลังเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้แก่ 1.ลดภาษีสำหรับ SMEs โดยผู้มีมีรายได้สุทธิไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 15 2.จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนกับ SMEs 3.นาโนไฟแนนซ์ โดยเปิดโอกาสให้เอกชนจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อปล่อยกู้ให้ประชาชน วงเงิน 100,000-120,000 บาท ดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกินร้อยละ 36 4.จัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ 5.ออกพันธบัตรออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง และ 6. มาตรการของแบงก์รัฐ ในการช่วยเหลือเกษตรกรและรายย่อย ฯลฯ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 นั้น จะเป็นส่วนช่วยผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในด้านการลดต้นทุน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ