ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วน และแนวโน้ม “บ. กรุ๊ปลีส” ที่ “A-/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 18, 2014 10:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของ บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันบางส่วนจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 60% ของเงินต้นและดอกเบี้ยค้างชำระของหุ้นกู้ที่เสนอขาย และเมื่อรวมกันแล้วจะจำกัดไว้ไม่เกินกว่าจำนวน 300 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” (International Scale) จาก Standard and Poor’s นอกเหนือจากความแข็งแกร่งที่ได้รับจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและเพิกถอนไม่ได้จากธนาคารกสิกรไทยแล้ว อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงประวัติทางธุรกิจที่ยาวนานของบริษัทในการให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์ ตลอดจนความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหาร สถานะทางการตลาดที่ปรับตัวดีขึ้น และฐานทุนที่เพียงพอด้วย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์รวมถึงความเสี่ยงด้านเครดิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยลดทอนความแข็งแกร่งของอันดับเครดิต นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัทยังถดถอยลง ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวก็มีผลกดดันต่ออันดับเครดิต แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของหุ้นกู้ของบริษัทอยู่บนพื้นฐานความแข็งแกร่งของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้เป็นอย่างมาก การได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่คาดว่าจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาด ตลอดจนควบคุมและปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อโดยรวม รวมทั้งยกระดับผลประกอบการทางการเงินให้ดีขึ้นในปี 2558 ทั้งนี้ หากผลประกอบการทางการเงินของบริษัทยังคงปรับลดลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ของบริษัทก็อาจจะถูกกระทบไปด้วย บริษัทกรุ๊ปลีสก่อตั้งในปี 2529 โดยตระกูลเหลืองรังษีเพื่อประกอบธุรกิจให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในปี 2533 นายขรรค์ชัย บุนปาน และนายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ ได้ซื้อกิจการของบริษัทจากผู้ถือหุ้นเดิมและได้หันไปเน้นการให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ในปี 2548 สถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2547 บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในปี 2550 โดย Asia Partnership Fund (APF) ซึ่งเป็นกองทุนจากประเทศญี่ปุ่นได้ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่พร้อมทั้งซื้อหุ้นผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เหลือ ส่งผลให้ APF เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดย ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2557 APF ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 65.1% หลังจากการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารในปี 2554 คณะผู้บริหารชุดใหม่ได้พยายามขยายเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายและรักษาความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่ายเดิมที่มีอยู่ ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้สถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยสินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3,306 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 หรือเพิ่มขึ้น 49.8% จากปี 2554 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 4,922 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 เมื่อพิจารณาจากสินเชื่อคงค้างแล้ว บริษัทมีสินเชื่อคงค้างขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 จากจำนวนผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์ 10 รายใหญ่ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง ในเดือนกันยายน 2557 บริษัทได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท ธนบรรณ จำกัด จากธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทธนบรรณเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในอุตสาหกรรมสินเชื่อรถจักรยานยนต์ สินเชื่อคงค้างของบริษัทธนบรรณอยู่ที่ระดับประมาณ 1,500 ล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การครอบงำกิจการของบริษัทธนบรรณได้ช่วยส่งเสริมสถานะทางการตลาดของบริษัทในด้านสินเชื่อคงค้างให้ดีขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังจะได้ประโยชน์จากเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายของบริษัทธนบรรณด้วย หลังจากการซื้อกิจการของบริษัทธนบรรณแล้ว สินเชื่อคงค้างของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเป็น 6,697 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 จาก 5,291 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 ในปี 2555 บริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศกัมพูชาผ่านบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด คือ GL Finance PLC (GLF) บริษัทได้ร่วมมือกับ Honda NCX ซึ่งเป็นผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าแต่เพียงผู้เดียวในประเทศกัมพูชา ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 สินเชื่อคงค้างของ GLF คิดเป็น 6% ของสินเชื่อคงค้างรวมของบริษัท เพิ่มขึ้นจาก 3% ณ สิ้นปี 2556 บริษัทยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสำเร็จในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศว่าจะช่วยยกระดับผลประกอบการโดยรวมของบริษัทได้หรือไม่เพียงใด สินเชื่อของบริษัทถดถอยลงค่อนข้างมากในปี 2554 เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 3 เดือน) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 7.8% ในปี 2553 เป็น 12.4% ในปี 2554 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับลดลงเป็น 5.5% ในปี 2555 หลังจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ปรับตัวดีขึ้น คุณภาพสินเชื่อของบริษัทได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมาเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น อัตราส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเป็น 9.6% ณ สิ้นปี 2556 และ 10.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2555 โดยกำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเป็น 357 ล้านบาทในปี 2555 จาก 215 ล้านบาทในปี 2554 บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการตั้งสำรองในปี 2555 โดยการเปลี่ยนแปลงอัตราการตั้งสำรองในแต่ละชั้นลูกหนี้ นอกจากนี้ คุณภาพสินเชื่อโดยรวมในปี 2555 ก็ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองลดลงค่อนข้างมาก โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ยปรับลดลงจาก 8.5% ในปี 2554 เป็นเพียง 1.6% ในปี 2555 อัตราส่วนสำรองสำหรับหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมก็ปรับลดลงเป็น 5.3% ในปี 2555 จาก 13.2% ในปี 2554 ผลประกอบการของบริษัทในปี 2556 และ 2557 ได้รับผลกระทบจากการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อและการขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนที่สูงขึ้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8.4% ในปี 2556 และ 9.1% สำหรับช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2557 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) อัตราส่วนขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 7.6% ในปี 2556 และ 7.1% สำหรับช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2557 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) จาก 5.1% ในปี 2555 การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองและขาดทุนจากการรถจักรยานยนต์ยึดคืนทำให้กำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 240 ล้านบาทในปี 2556 หรือลดลง 33% จากปี 2555 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับลดลงเป็น 5.4% ในปี 2556 จาก 12.3% ในปี 2555 กำไรสุทธิลดลงเหลือเพียง 22 ล้านบาทสำหรับ 3 ไตรมาสแรกของปี 2557 ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 0.45% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเข้มงวดในนโยบายการอนุมัติสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้ให้มากขึ้น ทริสเรทติ้งยังคาดหวังด้วยว่าบริษัทจะสามารถควบคุมและปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อของบริษัทให้ดีขึ้นในปี 2558 ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากมีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นในปี 2550 บริษัทสามารถขยายฐานสินเชื่อด้วยการกู้ยืมเงินจากการสนับสนุนโดยความน่าเชื่อถือของผู้ถือหุ้นใหญ่ แม้ว่าเงินกู้ยืมรวมของบริษัทจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 954 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 3,111 ล้านบาทในปี 2556 อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมก็ยังคงแข็งแกร่งจากการปรับโครงสร้างทุนอย่างต่อเนื่องและผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแรง อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงเป็น 41.1% ณ สิ้นปี 2556 จาก 45.6% ในปี 2555 และ 57.9% ในปี 2554 การครอบครองกิจการของบริษัทธนบรรณในกลางปี 2557 ที่ผ่านมาใช้เงินทุนจากการกู้ยืมเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงเป็น 33.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการสนับสนุนธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่มีความเสี่ยงสูงของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับฐานทุนที่มากกว่าธุรกิจให้สินเชื่อยานพาหนะทั่วไปที่เน้นรถยนต์นั่งและรถกระบะ ฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทจะเป็นเครื่องมือช่วยพยุงและดูดซับความเสี่ยงเนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทมีความเสี่ยงด้านคุณภาพเครดิตที่สูงซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) (GL) อันดับเครดิตตราสารหนี้: GL172A: หุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนมูลค่ารวม 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ