ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. ดั๊บเบิ้ล เอ (1991)” ที่ “BBB/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 18, 2014 10:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนของไทย รวมถึงโรงงานผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษที่ครบวงจร และตราสัญลักษณ์ที่แข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์ “ดั๊บเบิ้ล เอ” อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนด้านราคาซึ่งเป็นลักษณะโดยธรรมชาติของอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อและกระดาษ ตลอดจนความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และอุปสงค์ของกระดาษที่ชะลอตัวจากการฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าของภาวะเศรษฐกิจโลกและการทดแทนของสื่อดิจิตอล ทั้งนี้ ความสำเร็จของบริษัทในการขยายตลาดหลังกำลังการผลิตกระดาษเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าและธุรกรรมบางรายการระหว่างบริษัทกับบริษัทที่เกี่ยวข้องยังคงเป็นประเด็นกังวลต่ออันดับเครดิตของบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป โดยการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานใหม่น่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงและช่วยฟื้นความได้เปรียบด้านต้นทุนของบริษัทให้กลับมาอีกครั้งในระยะกลาง บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เป็นผู้นำในการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตกระดาษจำนวน 5 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันทั้งสิ้น 1,045,000 ตันต่อปี โดยกำลังการผลิตกระดาษของบริษัทเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าหลังจากที่โรงงานผลิตกระดาษแห่งที่ 3 (APM3) ของบริษัทเริ่มเดินเครื่องในช่วงปลายปี 2555 และบริษัทได้ซื้อโรงงานผลิตกระดาษ Alizay ในประเทศฝรั่งเศสเข้ามาในช่วงต้นปี 2556 ทำให้เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตโรงงานเยื่อกระดาษของบริษัทที่มีอยู่จำนวน 427,000 ตันต่อปีแล้ว บริษัทจำเป็นต้องสั่งซื้อเยื่อกระดาษบางส่วนจากผู้ประกอบการรายอื่นในตลาด ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายกระดาษคิดเป็น 97.7% ของรายได้รวม บริษัทมียอดขายกระดาษกระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาค อีกทั้งยังมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่เข้มแข็งครอบคลุมมากกว่า 138 ประเทศทั่วโลก โดยรายได้ของบริษัทมาจากการจำหน่ายภายในประเทศ 30% ส่วนอีกประมาณ 50% มาจากตลาดในภูมิภาคเอเซีย และ 20% มาจากตลาดในภูมิภาคอื่น ๆ ในเดือนพฤศจิกายน 2555 บริษัทเริ่มเดินเครื่อง APM3 เป็นครั้งแรก โดยโรงงานผลิตกระดาษแห่งนี้มีกำลังการผลิต 220,000 ตันต่อปี และบริษัทใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นราว 5,000 ล้านบาท ซึ่ง APM3 ถือเป็นโรงงานผลิตกระดาษที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดเมื่อเทียบกับโรงงานผลิตกระดาษอื่น ๆ ของบริษัท และได้รับการออกแบบให้ใช้เยื่อใยสั้นเป็นวัตถุดิบ 100% APM3 เริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2556 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 85% ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ในเดือนมกราคม 2556 บริษัทซื้อโรงงานผลิตกระดาษ Alizay ในราคา 18 ล้านยูโร โดยโรงงานผลิตกระดาษแห่งนี้ตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศสและมีกำลังการผลิต 300,000 ตันต่อปี แต่ได้หยุดผลิตไปตั้งแต่ในปี 2555 บริษัทต้องใช้เงินลงทุนอีกจำนวน 17 ล้านยูโรเพื่อให้โรงงานดังกล่าวกลับมาผลิตได้อีก ซึ่งโรงงาน Alizay จะเป็นฐานการผลิตของบริษัทสำหรับป้อนตลาดในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง อาฟริกา และอเมริกาเหนือ ทั้งนี้ โรงงาน Alizay เริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤษภาคม 2556 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 54% ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ผลประกอบการของบริษัทอ่อนแอลงในปี 2556-2557 โดยความพยายามในการสร้างตราสัญลักษณ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักในทวีปยุโรปซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน Alizay ได้ส่งผลให้รายจ่ายทางการตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 จนกระทบผลประกอบการของปี 2556 ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 แม้รายจ่ายทางการตลาดของบริษัทได้ลดต่ำลงมาอยู่ในระดับปกติ แต่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตคงที่ที่เพิ่มขึ้นจากโรงงานแห่งใหม่ซึ่งยังไม่ได้เดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงเหลือ 18.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เมื่อเทียบกับ 25.4% ในช่วงปี 2554-2556 และทำให้อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทลดลงเหลือ 6.8% เมื่อเทียบกับ 10.6% ในช่วงปี 2554-2556 อัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทปรับตัวลงมาอยู่ที่ 1.9 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เมื่อเทียบกับ 2.6 เท่าในช่วงปี 2554-2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ 57% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับเมื่อช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยการตีราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาทในปี 2556 ได้ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะผ่านจุดต่ำสุดในปี 2557 และจะกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งหลังจากปี 2558 เป็นต้นไป บริษัทมีแผนจะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ จาก 36.2% ลงเหลือ 25.5% ในช่วงปลายปี 2557 ทั้งนี้ หากไม่นับกำไรจำนวน 900 ล้านบาทที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากธุรกรรมดังกล่าวแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะขาดทุนจากการดำเนินงานประมาณ 1,000 ล้านบาทในปี 2557 ในช่วงระหว่างปี 2558-2560 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ประมาณ 24,000-26,000 ล้านบาทต่อปี โดยอัตราส่วนกำไรน่าจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 12%-13% ตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ราว 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่ประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาทต่อปีและหนี้ที่ครบกำหนดอีกประมาณ 3,000-4,500 ล้านบาทต่อปีแล้ว บริษัทมีแนวโน้มที่จะทำการกู้ยืมเพื่อชำระหนี้ที่ครบกำหนดบางส่วน บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) (DA) อันดับเครดิตองค์กร: BBB อันดับเครดิตตราสารหนี้: DA15DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB DA162A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB DA16DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB DA172A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 754.2 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB DA172B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,245.8 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB DA17DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB DA182A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,339.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB DA182B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,160.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ