ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย” ที่ “BBB” และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ที่ “BBB-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 18, 2014 10:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ “BBB-” โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement – PPA) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer – SPP) ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับกลุ่มบริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากอัตราการก่อหนี้ในระดับสูง รวมถึงการทำรายการระหว่างบริษัทในกลุ่ม นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังมีข้อจำกัดจากอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “BBB” ของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 36.2% ณ เดือนพฤศจิกายน 2557 ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทยังคงมีการดำเนินงานที่ราบรื่นซึ่งทำให้บริษัทได้รับกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากธุรกิจไฟฟ้า ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการชำระหนี้และรักษาโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับเหมาะสมในขณะที่มีการขยายธุรกิจในอนาคต บริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายเป็นผู้นำในธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) และบริษัทในกลุ่มได้ปรับโครงสร้างภายในกลุ่มโดยบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายถือเป็นบริษัทหลักในธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่มดั๊บเบิ้ล เอ ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าชีวมวลและถ่านหินรวม 9 โรงภายใต้โครงการ SPP ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 503 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำ 1,180 ตันต่อชั่วโมง โรงไฟฟ้าของบริษัทตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา นอกจากธุรกิจไฟฟ้าแล้ว บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานและธุรกิจสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านแหล่งเชื้อเพลิงและเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วย โดยบริษัทได้ลงทุนในธุรกิจเอทานอลจากมันสำปะหลังขนาดกำลังการผลิต 500,000 ลิตรต่อวัน ลงทุนในธุรกิจน้ำมันรำข้าว และธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำให้แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนในธุรกิจสนับสนุนการปลูกต้นยูคาลิปตัส (ต้นพลังงาน) ธุรกิจวิจัยและพัฒนาพันธุ์ไม้ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง และลงทุนซื้อสิทธิในการทำเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย บริษัทยังลงทุนในธุรกิจให้บริการขนส่งถ่านหินและชีวมวล รวมถึงธุรกิจทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลด้วย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไฟฟ้ายังเป็นแหล่งรายได้และแหล่งกำไรหลักของบริษัท โดยในปี 2556 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทในสัดส่วน 85% มาจากธุรกิจไฟฟ้า ในขณะที่ 15% มาจากธุรกิจอื่น บริษัทมีสัญญา PPA อายุ 25 ปีกับ กฟผ. คิดเป็นสัดส่วน 60% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัท บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำส่วนที่เหลือภายใต้สัญญาระยะยาวให้แก่กลุ่มดั๊บเบิ้ล เอ และจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทราด้วย โรงไฟฟ้าของบริษัทได้รับการออกแบบให้ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและชีวมวล แม้การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจะมีความได้เปรียบด้านต้นทุนและมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้เชื้อเพลิง แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลก็ต้องการการบำรุงรักษามากกว่าและมีความเสี่ยงจากการสึกหรอของเครื่องจักรอุปกรณ์ในอัตราที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 โรงไฟฟ้าของบริษัทมีการดำเนินงานราบรื่นใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา โดยอัตราการหยุดซ่อมฉุกเฉินเฉลี่ยอยู่ที่ 4.9% เทียบกับระดับ 3.9%-5.3% ในปี 2554-2556 ระดับความพร้อมจ่ายเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2556 ปรับตัวดีขึ้นเป็น 88.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 จาก 83.3%-87.5% ในปี 2554-2556 เนื่องจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่มีการปิดซ่อมบำรุงใหญ่เช่นในปี 2556 การปิดซ่อมบำรุงตามแผนลดลงเป็น 6.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เทียบกับ 8.6%-11.5% ในระหว่างปี 2554-2556 ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2556 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มค่าเอฟทีและต้นทุนเชื้อเพลิงถ่านหินที่ลดลง โดยดัชนีถ่านหินอ้างอิง JPU (Japanese Power Utility Index) ลดลงจาก 110.83 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2555 เป็น 94.06 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2556 และ 81.79 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 นอกจากนี้ หลังจากการปรับปรุงหม้อไอน้ำ บริษัทสามารถใช้ถ่านหินที่มีค่าความร้อนต่ำกว่ามาทดแทนถ่านหินที่มีค่าความร้อนสูงบางส่วนเพื่อลดต้นทุนด้วย อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทยังคงแข็งแรงที่ระดับ 29.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เทียบกับ 31.2% ในปี 2556 EBITDA ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 3,389 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 อย่างไรก็ตาม เงินกู้รวมปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 18,351 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 จาก 16,771 ล้านบาทในปี 2556 เนื่องจากการลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา บริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 2 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 223 เมกะวัตต์และโรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังอีก 1 สายการผลิต บริษัทได้จ่ายเงินปันผลรวมจำนวน 1,075 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ซึ่งคิดเป็นอัตราการจ่ายปันผลกว่า 80% ของกำไรสุทธิ ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 63.3% ณ เดือนกันยายน 2557 เทียบกับ 64.4% ในเดือนธันวาคม 2556 การเพิ่มขึ้นของเงินกู้รวมทำให้อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายทรงตัวที่ระดับ 4.2 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เทียบกับ 4.1 เท่าในปี 2556 แม้ว่าบริษัทมี EBITDA ที่สูงขึ้น แต่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมยังคงอยู่ที่ระดับ 17.7% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีด้วยผลการดำเนินงาน 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2556 บริษัทมีเงินมัดจำจ่ายเพื่อซื้อที่ดินแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันมูลค่า 1,615 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2555 ในปี 2556 บริษัทมีแผนจะพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา บริษัทย่อยของบริษัทได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินที่ตั้งอยู่ใกล้กับท่อก๊าซเส้นที่ 4 ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมจำนวน 288 ไร่จากบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน 3 แห่งเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซดังกล่าว โดยบริษัทตกลงจะซื้อที่ดินในราคารวม 624 ล้านบาทและได้จ่ายเงินมัดจำรวมจำนวน 605 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 บริษัทมีเงินมัดจำจ่ายเพื่อซื้อที่ดินแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันรวมมูลค่า 1,694 ล้านบาท ความสามารถในการทำกำไรในธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจในปี 2557-2558 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากต้นทุนเชื้อเพลิงถ่านหินที่ยังอยู่ระดับต่ำ โดยต้นทุนถ่านหินคิดเป็นประมาณ 30% ของต้นทุนผลิตไฟฟ้าของบริษัท รายได้ของบริษัทยังมีโอกาสเติบโตจากโรงไฟฟ้าใหม่ 2 โรงซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 แรงกดดันทางด้านการกู้ยืมน่าจะลดลงเนื่องจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทใกล้ดำเนินการเสร็จสิ้นและการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินภายใต้โครงการ IPP (Independent Power Producer) เลื่อนออกไป อย่างไรก็ตาม บริษัทจะเผชิญความท้าทายจากธุรกิจผลิตเอทานอล โดยเอทานอลสายการผลิตที่ 2 กำลังการผลิต 250,000 ลิตรต่อวันจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งแรกของปี 2558 แม้ว่าความต้องการเอทานอลจะเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2555-2556 หลังจากรัฐบาลยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 แต่ความต้องการเอทานอลในปัจจุบันที่ระดับ 3.4 ล้านลิตรต่อวันยังคงน้อยกว่ากำลังการผลิตเอทานอลรวมทั้งอุตสาหกรรมที่ 4.2 ล้านลิตรต่อวัน ทั้งนี้ กำลังการผลิตนี้ยังไม่รวมกำลังการผลิตอีก 1.4 ล้านลิตรของโรงงานผลิตเอทานอลที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างตามข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายจำกัด (มหาชน) (NPS) อันดับเครดิตองค์กร: BBB อันดับเครดิตตราสารหนี้: NPS156A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB- NPS171A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,718 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB- NPS184A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB- NPS19OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 BBB- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ