กสอ. ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการสู่การเป็น Intelligent SMEs รับ AEC นำร่องบูรณาการหลักสูตร เศรษฐกิจดิจิทัลติวผู้ประกอบการปี 58

ข่าวทั่วไป Monday December 22, 2014 10:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์- กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ตั้งเป้าพัฒนากิจการ SMEs สู่การ เป็นกิจการ SMEs ที่ชาญฉลาด (Intelligent SMEs) เปิดตัวหลักสูตร “เศรษฐกิจดิจิทัล” นำร่องผนวกใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการ ปี 58 ในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (Manufacturing Development to Improve CompetitivenessProgramme : MDICP) มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภาพของ SMEs โดยอาศัยกระบวนการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งเนื้อหาได้สอดแทรกความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital) และระบบซอฟท์แวร์ (Soft Ware) อาทิ พัฒนาและปรับปรุงการผลิต ยกระดับ การบริหารจัดการองค์กรให้เป็นระบบมาตรฐานสากล เพิ่มความสามารถและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีนำไปสู่นวัตกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวดำเนินงานมากว่า 17 ปี มีสถานประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม เข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 789 กิจการ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมไม่น้อยกว่า 41,980.97 ล้านบาท โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2557 (รุ่นที่ 16) โครงการดังกล่าวสามารถสร้างผลลัพธ์การพัฒนา สถานประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 49 กิจการ คิดเป็นการเพิ่มผลิตภาพรวม (Productivity) ประมาณ 592.7 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 เดือนสิงหาคม 2557 ) นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ธุรกิจ SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทในการเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ และจากสภาพการประกอบการและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้ SMEs ไทยส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาด้านขาดหลักการบริหารจัดการ โดยเฉพาะ 4 องค์ประกอบหลักในการดำเนินธุรกิจ คือ การผลิต การเงินและบัญชี การตลาด และการจัดการบุคลากร ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงริเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารการแข่งขัน(Manufacturing Development to Improve CompetitivenessProgramme : MDICP) โดยในปีงบประมาณ 2558 นี้ กรมฯ มีนโยบายที่จะผนวกเนื้อหาความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital)และระบบซอฟท์แวร์ (Soft Ware) มาใช้ในการพัฒนา SMEs ที่เข้าร่วมโครงการสู่การเป็นกิจการ SMEs ที่ชาญฉลาด (IntelligentSMEs) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล โดยเฉพาะการบริหารจัดการคลังสินค้าและการตลาด ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภาพของ SMEs โดยอาศัยกระบวนการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาควบคู่กับการพัฒนาและชี้นำให้ SMEs สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital) และระบบซอฟท์แวร์ (Soft Ware) ไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภาพอย่างยั่งยืนโดยสอดแทรกเนื้อหาดังกล่าวผ่าน 8 แผนงาน ดังนี้ 1. แผนงานการพัฒนาและปรับปรุงการผลิต 2. แผนงานยกระดับการบริหารจัดการองค์กรให้เป็นระบบมาตรฐานสากล 3. แผนงานเพิ่มความสามารถและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีนำไปสู่นวัตกรรมฯ 4. แผนงานเสริมสร้างความสามารถทางการบริหารการเงินและการลงทุน 5. แผนงานเพิ่มสมรรถนะและการจัดการเชิงกลยุทธ์และการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาช่องทางการขายในรูปแบบดิจิทัล (E-Marketing) 6. แผนงานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือการบริหารทุนบุคลากร 7. แผนงานการพัฒนาองค์กรด้านการจัดการความรู้หัวข้อในการให้คำปรึกษาแนะนำ 8. แผนงานการพัฒนาและปรับปรุงระบบโซ่อุปทาน โดยมีหัวข้อในการให้คำปรึกษาแนะนำที่น่าสนใจ อาทิ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในกระบวนการผลิต การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำระบบมาตรฐาน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสู่นวัตกรรมการพัฒนาช่องทางการขายรูปแบบดิจิทัล และการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการองค์ความรู้ (KM) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทั้ง 8 แผนงานจะมีคณะที่ปรึกษาที่มีความรู้และประสบการณ์การทำงานเฉพาะทาง มีห้องทดลองและอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อทำการทดลองวิจัยในการพัฒนากระบวนการทำงานที่ได้รับการรับรอง โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มาเป็นผู้ดำเนินการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกและฝึกอบรมในสถานประกอบการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทั้ง 20 กิจการที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกรับบริการ 4 แผนงาน จาก 8 แผนงานหลักข้างต้น นายอาทิตย์ กล่าว นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการ MDICP เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2542 และดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของไทยให้เข้าสู่ระบบการค้าสากล และสามารถสร้างสมรรถนะในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยกระบวนการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการธุรกิจทั้งระบบให้เกิดการพัฒนาอย่างเชื่อมโยงกัน ตลอดจนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสู่การพัฒนาธุรกิจ ทั้งนี้ สำหรับผลการดำเนินงานโครงการที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 17 ปี โครงการ MDICP มีสถานประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 789 กิจการ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ไม่น้อยกว่า 41,980.97 ล้านบาท โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2557 (รุ่นที่ 17) โครงการดังกล่าวสามารถสร้างผลลัพธ์การพัฒนาสถานประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 49 กิจการ ได้ดังนี้ ยอดขายเพิ่มขึ้น 356 ล้านบาท ลดของเสีย 22 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภัณฑ์ 101.31 ล้านบาท เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 82.72 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มผลิตภาพรวม (Productivity) 592.7 ล้านบาท (ณ เดือนสิงหาคม 2557 ) ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2558 นี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยสำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม มีเป้าหมายที่จะพัฒนาสถานประกอบการภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถ การแข่งขัน จำนวน 48 กิจการ แยกเป็นสถานประกอบการในภูมิภาค จำนวน 28 กิจการ ดำเนินการโดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1-11 และในส่วนกลาง (พื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี) จำนวน 20 กิจการ ซึ่งกำหนดจัดพิธีเปิดและลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างโครงการ MDICP และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในส่วนกลางจำนวน 20 กิจการ อย่างไรก็ตาม คาดว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 65 จะมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ ลดต้นทุนร้อยละ 6 และลดของเสียร้อยละ 3 หรือมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9 นายอาทิตย์ กล่าวสรุป สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ MDICP หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนา การจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4546, 0 2200 4526 โทรสาร 0-2354-3426 หรือ E-mail :mdicp@yahoo.com หรือเว็บไซต์ www.mdicp.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ