จิตแพทย์ชี้เหตุการณ์ “สึนามิ” เป็นความทรงจำที่ฝังลึกในดีเอ็นเอ TCELS พร้อมศึกษาต่อเนื่องเพื่อพัฒนาแนวทางรักษา

ข่าวทั่วไป Tuesday December 30, 2014 16:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--TCELS ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ อาจารย์ จากจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับทุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่ 6 จังหวัดของประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ เพื่อทำฐานข้อมูลด้านสุขภาพจิตและพันธุกรรมของผู้ที่รอดชีวิตจากสึนามิ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายส่วนงาน เช่น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลรามาธิบดี และ สถาบันริเคน ศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ ประเทศญี่ปุ่น ศ.พญ.นันทิกา กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลและศึกษา พบว่า นอกจากผลกระทบทางด้านร่างกาย และทรัพย์สินแล้ว ผู้รอดชีวิตจากเหตุสึนามิได้รับผลกระทบทางจิตใจ โดยเฉพาะโรคเครียดรุนแรงหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ Post Traumatic Stress Disorder หรือที่เรียกว่า PTSD จากตัวอย่าง 3,133 ราย พบว่ามีผู้ป่วย PTSD ประมาณ ร้อยละ 33.6 โดย ร้อยละ 14.27 มีอาการของโรคซึมเศร้ารวมด้วย จึงได้มีการติดตามตัวอย่าง 2,573 ราย ต่ออีก 6 เดือน พบว่ามียังผู้ป่วย PTSD เหลือประมาณ ร้อยละ 21.6 และในกลุ่มนี้เองถือว่า เป็นกลุ่มโรค PTSD เรื้อรัง “โครงการฯ จึงได้ทำการเก็บตัวอย่าง DNA เพื่อใช้สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยทางพันธุกรรม โดยการศึกษาความสัมพันธ์ของรหัสพันธุกรรมตลอดสาย (Genome Wide Association Study - GWAS) ร่วมกับการศึกษาปัจจัยทางจิตสังคมต่างๆ ผลปรากฎว่า ปัจจัยทางพันธุกรรม และทางจิตสังคม สัมพันธ์กับการเกิดโรค PTSD เรื้อรังนี้ โดยพบว่าตำแหน่งทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกิด PTSD ร่วมกับปัจจัยทางจิตสังคมอื่นๆ เช่น ผู้ที่มีแนวโน้มของกลุ่มอาการทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ผู้ที่ใช้สารเสพติด ผู้ที่มีประวัติการผ่านประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก รวมถึงปัจจัยอื่นๆอีกมาก” พญ.นันทิกา กล่าว อย่างไรก็ตาม พญ.นันทิกา ตั้งข้อสังเกตว่า หากเราไม่สามารถ ป้องกันเหตุร้ายแรง อุบัติเหตุ หรือภัยพิบัติตามธรรมชาติได้ เราจะมีวิธีการจัดการกับโรค PTSD ที่มักเกิดกับผู้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ นี้ได้อย่างไร คำตอบก็อยู่ที่ตัวเราเอง ฝังอยู่ในตัวเรา หากสามารถตรวจพันธุกรรมได้ตั้งแต่เริ่มแรก การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงก็จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคลงได้ ซึ่งทาง TCELS จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องสำหรับคำตอบในการรักษาที่จะมีการพัฒนาขึ้นในลำดับต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ