ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. ....

ข่าวทั่วไป Monday January 12, 2015 11:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม ตามที่ กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. .... เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการผลิต การพัฒนาและการเผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้และพฤติกรรมที่ดีของเด็กและเยาวชน และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสื่อ นั้น ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๘ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนฯ ได้ถูกบรรจุเข้าวาระที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ เพื่อพิจารณารายมาตราในวาระที่ ๒ โดยที่ประชุมได้มีการปรับแก้ในประเด็นสำคัญบางมาตรา และได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่ ๓ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะได้มีการนำเสนอเพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์สำคัญของกองทุน คือ รณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมทั้งการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยการดำเนินงานของกองทุนจะมีคณะกรรมการกองทุนเป็นผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นรองประธานกรรมการ และมีกรรมการทั้งในภาคของหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ และมีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำหน้าที่บริหารจัดการ และจัดสรรเงินทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจาก ๓ ส่วนหลัก ได้แก่ ๑) เงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ๒) เงินค่าปรับจำนวนกึ่งหนึ่งที่ได้รับจากการลงโทษผู้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ ๓) เงินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้ รวมถึงรายได้จากการดำเนินกิจการ หรือสิทธิประโยชน์ของกองทุน ทั้งนี้ ในวาระแรกเริ่มการดำเนินงานของกองทุนจะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงวัฒนธรรม โดยให้รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมที่ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมมอบหมายเป็นผู้จัดการกองทุน ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและการสรรหาผู้จัดการกองทุนให้เรียบร้อย ทั้งนี้จะต้องดำเนินให้แล้วเสร็จภายใน ๑๒๐ วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ พร้อมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมจัดสรรบุคลากรในกระทรวงวัฒนธรรมมาช่วยปฏิบัติงานของสำนักงานกองทุนเป็นการชั่วคราว โดยมีระยะเวลาไม่เกิน ๑ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้เช่นกัน ซึ่งขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมได้เตรียมความพร้อมโดยการจัดตั้งสำนักงานกองทุนชั่วคราวเพื่อรองรับการดำเนินงานในทันที ภายหลังที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จีงไม่น่าหนักใจแต่ประการใด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ