ป้ายแสดงข้อมูลรถยนต์ (Eco Sticker)

ข่าวยานยนต์ Friday January 16, 2015 10:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ สศอ. คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 มอบหมายให้ กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กำหนดแนวทางให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยานยนต์และผู้นำเข้าต้องติดป้ายแสดงการประหยัดพลังงานและปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ทั้งระบบ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2559 เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม ในการแจ้งชำระภาษีและการให้ข้อเท็จจริงของรถยนต์ต่อประชาชน นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “ป้ายข้อมูลรถยนต์ (Eco Sticker) ซึ่ง ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงในงาน Motor Expo เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นกลไกที่ประเทศอุตสาหกรรมยานยนต์ชั้นนำเกือบทุกประเทศ นำมาใช้ในการให้ข้อเท็จจริงเชิงเปรียบเทียบของรถยนต์เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย” ทั้งนี้ ในช่วงกว่า 2 ปี ที่ผ่านมา สำนักงานฯ ได้หารือร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์ และได้จัดเตรียมระบบงานเพื่อรองรับมติ ครม. 18 ธันวาคม 2555 ที่ให้ ‘กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดแนวทางให้ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยานยนต์และผู้นำเข้าต้องติดป้ายแสดงการประหยัดพลังงานและปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ โดย สำนักงานฯ ได้ร่วมกับ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ในการออกแบบและสร้างขึ้นเป็นระบบ Cloud Based Application อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อนำมาใช้แทนระบบการยื่นเอกสารและการติดต่อราชการแบบเดิม การจัดสัมมนา เรื่อง ระบบป้ายแสดงข้อมูลรถยนต์เพื่อรองรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ โดยมีท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เมื่อวันอังคารที่ 13 มกราคม 2558ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้งานของระบบ Cloud Based Application ของ Eco Sticker และเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ผลิตรถยนต์ในการเข้าใช้งานระบบ โดยงานสัมมนาดังกล่าว มีผู้แทนจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายเข้าร่วมด้วย รวมทั้งสิ้นประมาณ 150 ท่าน และสำนักงานฯ ยังได้จัดเตรียมการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการแบบลงรายละเอียดเป็นกลุ่มย่อยรายบริษัท ในช่วงวันที่ 21-27 มกราคมนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทดลองระบบและทำความคุ้นเคยกับระบบนี้ ก่อนการใช้งานจริง” การริเริ่มระบบ Eco Sticker ในประเทศไทย ร่วมกับการเริ่มใช้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ที่มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การให้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีจาก รถยนต์ที่มีขนาด “ซี.ซี.ต่ำ-แรงม้าน้อย” มาเป็นรถยนต์ที่มี “ความสะอาด-ประหยัด-ปลอดภัย” โดยจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2559 ถือเป็นพลวัตทางนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญ ที่นอกจากจะแก้ไขปัญหาการบิดเบือนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีรถยนต์ และเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้สอดคล้องกับทิศทาง การพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์โลกแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้รถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยมีอัตราการประหยัดพลังงานที่ดีขึ้น มีสมรรถนะด้านความปลอดภัยที่ดีขึ้น และปล่อยมลพิษลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้บริโภคสามารถรับทราบและเปรียบเทียบข้อมูลคุณสมบัติของรถยนต์เหล่านี้ได้จาก Eco Sticker นี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อรถยนต์ ข้อมูลที่จะแสดงบน Eco Sticker ของรถยนต์แต่ละคัน จะประกอบด้วย อัตราการใช้เชื้อเพลิงอ้างอิงเปรียบเทียบ และอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 ที่วัดตามมาตรฐานสากล (ของ United Nation) UN ECE Reg.101 มาตรฐานความปลอดภัยของระบบเบรก ที่วัดตามมาตรฐานสากล UN ECE Reg.13H มาตรฐานความปลอดภัยผู้โดยสารในกรณีที่เกิดการชนด้านหน้าและด้านข้าง ที่วัดตามมาตรฐานสากล UN ECE Reg.94 และ 95 รวมถึงข้อมูลพื้นฐานของรถยนต์แต่ละคัน นายอุดมฯ กล่าวต่อว่า “ปัจจุบันระบบ Eco Sticker มีใช้อยู่อย่างแพร่หลายในประเทศอุตสาหกรรมยานยนต์ชั้นนำทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น กลุ่มสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ บราซิล อินเดีย จีน และอีกหลายประเทศ ซึ่งจะรวมถึงประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ