หอการค้าไทยแนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัวรับปัจจัยเสี่ยงด้านการส่งออก

ข่าวทั่วไป Tuesday January 20, 2015 13:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--หอการค้าไทย อัตราแลกเปลี่ยน การถูกตัดสิทธิ GSP ของยุโรป และสถานการณ์ราคาน้ำมัน ยังเป็นปัจจัยสำคัญของการส่งออก หอการค้าไทยแนะผู้ประกอบการเร่งสร้างมาตรฐานในสินค้า พัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต พัฒนา Value Chain และสร้างแบรนด์สินค้า นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในปี 2558 เศรษฐกิจไทย มีโอกาสขยายตัวได้ประมาณ 4% โดยให้น้ำหนักอยู่ที่การลงทุนจากภาครัฐและการท่องเที่ยว ที่จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนั้น โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวมากน้อยเพียงใด ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่เป็นรูปธรรม สำหรับสถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 2558 นั้น ทางคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.)ได้แถลงคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกในปีนี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในภาพรวมจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2557 ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณการฟื้นตัว และคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวประมาณ 3-4% อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทย ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการควรจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ใน 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. อัตราแลกเปลี่ยน โดยภาพรวมอัตราแลกเปลี่ยนในปีที่ผ่านมา ณ สิ้นปี 2014 เทียบกับสิ้นปี 2013 พบว่า ค่าเงินบาทของไทย ณ สิ้นปี 2014 อยู่ที่ 32.86 บาท/เหรียญสหรัฐ เทียบกับ ณ สิ้นปี 2013 อยู่ที่ 32.70 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการอ่อนค่าลงเพียงเล็กน้อย แค่ 0.49% ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศอื่นในอาเซียน ได้อ่อนค่าลงมากกว่าค่าเงินบาทของไทยในช่วงเวลาเดียวกัน อาทิ ค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย อ่อนค่าลง 6.28% และยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินของสิงคโปร์ ได้อ่อนค่าลง 4.41%และค่าเงินรูเปี๊ยะของอินโดนีเซีย ได้อ่อนค่าลง 2.22% สำหรับประเทศในเอเชียที่มีค่าเงินอ่อนลงมาก คือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีค่าเงินอ่อนลงถึง 11.86% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอของญี่ปุ่น และค่าเงินวอนเกาหลีใต้ลดลง 4.23% ส่วนค่าเงินยูโรของสหภาพยุโรป ก็อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยได้ลดค่าเงินไปถึง 13.07% และได้อ่อนค่าลงไปอีก เมื่อธนาคารกลางของสวิสเซอร์แลนด์ ยกเลิกกำหนดค่าเงินฟรังก์ต่อยูโร ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินฟรังก์แข็งค่าขึ้นได้อย่างเสรี ทำให้ค่าเงินฟรังก์แข็งค่าขึ้นประมาณ 30% และค่าเงินยูโรได้อ่อนค่าลงอีก 1-2% ซึ่งหากประกอบกับการถูกตัดสิทธิ GSP ก็จะทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังยุโรปลำบากมากขึ้น นอกจากนั้น ค่าเงินรูเบิ้ลของรัสเซีย ได้เคลื่อนไหวผันผวนเป็นอย่างมาก จากผลกระทบของราคาน้ำมันที่ลดลง และวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ค่าเงินรูเบิ้ล อ่อนตัวลงจาก 32.90 RUB/USD ในช่วงต้นปีเป็น 58.05 RUB/USD ในปลายปี ซึ่งปรับลดลงถึง 43.33% และขณะนี้ยังปรับตัวลงถึง 65.30 RUB/USD หรือมากกว่า 50% จึงจำเป็นต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากค่าเงินที่อ่อนลงจะกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซียที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับ 3 รองจากนักเที่ยวจีน และมาเลเซีย ขณะที่นักท่องเที่ยวจากรัสเซีย มีส่วนสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยถึง 10.1% สำหรับค่าเงินในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย อ่อนค่าลงถึง 8.99% และค่าเงินเรียลของบราซิลอ่อนค่าลงถึง 11.19% ซึ่งทั้งสองประเทศ เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 และ 3 ของโลก ขณะที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก จึงได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่อ่อนลงของประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อย่างบราซิลและออสเตรเลีย เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากค่าเงินที่อ่อนลงในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาได้เพิ่มขึ้น และทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลงประมาณ 15% และส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยที่เกษตรกรไทยจะได้รับลดลง ตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก โดยรวม จะเห็นว่า ค่าเงินบาทของไทยในขณะนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักระหว่างสิ้นปี 2013กับสิ้นปี 2014 ขณะที่ค่าเงินของประเทศอื่นในภูมิภาค รวมถึงประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปมีการอ่อนค่าลงมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทย ดังนั้นการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการปรับลดค่าเงินบาทเพื่อกระตุ้นการส่งออก ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะจะกระทบส่วนอื่นๆ อาทิ ภาระหนี้สินต่างประเทศ และต้นทุนของผู้นำเข้าดังนั้น อัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการเห็น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการกับความเสี่ยงได้ 2. การถูกตัดสิทธิ GSP ซึ่งผลกระทบจากการที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ในตลาด EU แคนาดา และตุรกีทำให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2557) โดยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ที่ศึกษาในเบื้องต้นถึงผลกระทบจากการปรับลด GSP ของสินค้าไทย 18 รายการแรกที่ส่งไปยังสหภาพยุโรป จะได้รับผลกระทบด้านภาษีรวมกัน มูลค่า 86.88 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบด้านภาษีมากที่สุด ได้แก่ กุ้งปรุงแต่ง (จะต้องเสียภาษีเพิ่มจาก 7%เป็น 20%) รองลงมา คือ ยานยนต์ขนส่ง (จะต้องเสียภาษีเพิ่มจาก 0-15.4% เป็น 3.5-22%) และยางนอกรถยนต์(จะต้องเสียภาษีเพิ่มจาก 0% เป็น 4.5%)อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอสิทธิ เพื่อยกเลิกภาษีเป็นการชั่วคราวเป็นรายสินค้า ภายใต้โครงการ “Autonomous Tariff Suspensions” ได้ ส่วนรัฐบาลควรเร่งผลักดันการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป โดยความคืบหน้าล่าสุด ทางสหภาพยุโรป งดการเจรจาในระดับนโยบายกับรัฐบาลของไทย แต่ในระดับเจ้าหน้าที่ยังสามารถเจรจาและข้อมูลทางด้านเทคนิคต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าได้ 3. สถานการณ์ราคาน้ำมัน ซึ่งราคาน้ำมันที่ลดลง จะส่งผลดีต่อต้นทุนการขนส่งสินค้า และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ในระดับหนึ่ง และจะทำให้ผู้บริโภคเหลือเงินเพื่อจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่ง ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน จะมีกำลังซื้อที่ลดต่ำลง อันเนื่องมาจากรายได้ จากการขายน้ำมันที่ลดลงดังนั้น ผู้ประกอบการควรมองหาตลาดใหม่ เพื่อทดแทนตลาดปัจจุบัน ที่อาจมีกำลังซื้อที่ลดน้อยลง โดยเน้นมองหาตลาดจากกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดลง อาทิ กลุ่มประเทศที่นำเข้าน้ำมัน นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการและโฆษกหอการค้าไทย กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมต่อปัจจัยเสี่ยงด้านการส่งออกที่ควรต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ดังนี้ 1. พัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้า (Standard) โดยปัจจุบันหลายประเทศได้นำเรื่อง มาตรฐาน เข้ามามีส่วนในการนำเข้าสินค้า ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญทั้งในด้านคุณภาพสินค้า และกระบวนการผลิต ที่จะต้องเป็นที่ยอมรับและเป็นมาตรฐานระดับสากล เพื่อป้องกันการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTB) โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนา ซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้าอาหารส่งออกจากประเทศไทย เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา นอกจากให้ความสำคัญกับมาตรฐานผลผลิตหรือคุณภาพสินค้าแล้ว ยังให้ความสำคัญกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานแรงงาน และสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างที่ประเทศสหรัฐอเมริกาปรับลดอันดับด้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทยลงมาอยู่ใน Tier 3 อันเนื่องมาจากกรณีของการใช้แรงงานบังคับในธุรกิจประมง ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและการส่งออกสินค้าอาหารของไทย 2. พัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity) จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวนผู้มีงานทำในประเทศไทย 38.9 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตร 15.43 ล้านคน (ร้อยละ 40) แต่มีสัดส่วนในการสร้าง GDP ให้กับประเทศเพียงร้อยละ 12 ขณะที่ผู้มีงานทำในภาคอุตสาหกรรม 5.39 ล้านคน (ร้อยละ 14) มีสัดส่วนในการสร้าง GDP ร้อยละ 34 และผู้มีงานทำในภาคบริการ 14.13 ล้านคน (ร้อยละ 36) มีสัดส่วนในการสร้าง GDP ร้อยละ 41 ทั้งนี้ ผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะผลิตภาพของแรงงาน ในภาคเกษตร (Agricultural Productivity) ซึ่งต่ำกว่าประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยไทยมีผลิตภาพการผลิต 3,651 ดอลลาร์/คน/ปี ต่ำกว่ามาเลเซียถึง 6.5 เท่า และต่ำกว่าประเทศออสเตรเลียถึง 23 เท่า เนื่องจากส่วนใหญ่ยังเป็นการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ซึ่งใช้แรงงานคนจำนวนมาก ดังนั้น ทิศทางการพัฒนาภาคเกษตรของไทยนับจากนี้ จึงต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) พัฒนาประสิทธิภาพการปลูก บำรุงรักษา และเก็บเกี่ยวด้วยการจัดการเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farm) มีการรวมแปลงโดยไม่เสียกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพื่อสามารถนำเครื่องจักรในการทำการเกษตร (Mechanization) มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น 3. พัฒนาประสิทธิภาพห่วงโซ่คุณค่า (Move up Value Chain) ปัจจุบันภาคธุรกิจเอกชน ถูกแรงกดดันจากกระแสโลกาภิวัตน์ และการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ดังนั้น ควรมุ่งพัฒนาธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตลอด Value Chain เพื่อให้มีความเชื่อมโยง (Connectivity) กันตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยการแปรรูปวัตถุดิบหรือสินค้าเกษตรขั้นต้น เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างความยั่งยืนในระยะยาวให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย ตัวอย่าง สินค้าข้าว (ต้นทาง) นอกจากการแปรรูปเป็น ข้าวสาร (กลางทาง) แล้วยังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง (ปลายทาง) รวมทั้งสามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตพลายได้ อาทิ ปลายข้าวและรำข้าว นำไปผลิตน้ำมันรำข้าว และแกลบไปผลิตไฟฟ้าชีวมวล ได้อีกด้วย หรือ อ้อย (ต้นทาง) ผลิตเป็นน้ำตาล และเพิ่มมูลค่าเป็นน้ำตาลรีไฟเนอรี่ (กลางทาง) ก่อนนำไปทำขนม (ปลายทาง) ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 4-5 เท่า 4. พัฒนาสร้างตราสินค้าของไทย (Branding) มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นการสร้างความยั่งยืน และการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ โดยเริ่มจากการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐาน นำความคิดสร้างสรรและการออกแบบ (Design) เข้ามามีส่วนในการพัฒนาสร้างเอกลักษณ์ให้สินค้า ทำให้แบรนด์สินค้าของประเทศไทยเข้มแข็ง ก้าวไปสู่เป็น Thailand Brand, ASEAN Brand และ Global Brand ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนทั้งอาเซียนหรือเป็นสินค้าที่อยู่ในใจคนทั่วโลก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุงพัฒนาธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีการร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อทำการวิจัยและพัฒนา ใช้องค์ความรู้สร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และพัฒนาศักยภาพของห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ