สคร.7 เตือนระวังโรคหน้าหนาว หลัง ปภ. ประกาศเขตภัยพิบัติหนาว 20 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Tuesday January 20, 2015 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สคร.7 เตือนระวังโรคหน้าหนาว หลัง ปภ. ประกาศเขตภัยพิบัติหนาว 20 จังหวัด แนะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.7) เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ลักษณะอากาศทั่วไป ว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนยังคงแผ่เสริมลงมาปกคลุม ประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน อุณหภูมิจะลดลงได้อีก 1-2 องศาเซลเซียส กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยหนาวแล้ว 20 จังหวัด 262 อำเภอ โดยในภาคอีสานมีพื้นที่ประสบพิบัติภัยหนาวทั้งหมด 11 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร เลย ขอนแก่น นครพนม หนองคาย กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม อุบลราชธานีและล่าสุดคือจังหวัดศรีสะเกษ นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า จากสภาวะอากาศเช่นนี้ส่งผลให้เกิดโรคภัยแทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ต้องระมัดระวังการเจ็บป่วย ด้วยโรค 2 กลุ่ม คือ 1. โรคติดเชื้อ ได้แก่ โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคสุกใส โรคมือ เท้า ปาก 2. ภัยสุขภาพ เช่น อันตรายจากการดื่มสุราแก้หนาว อันตรายจากการท่องเที่ยวในฤดูหนาว โดยมีปัจจัยเสี่ยงเสริมที่สำคัญ คือ การดื่มสุราและสวมเครื่องนุ่งห่มไม่เพียงพอ รวมทั้งกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ลมชัก รวมทั้งคนพิการและผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย เป็นต้น ทั้งนี้ ประชาชนควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ สวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้และหอบหืดไม่ควรก่อไฟผิง เพราะควันไฟจะระคายเคืองระบบทางเดินลมหายใจทำให้อาการรุนแรงขึ้น ไม่ดื่มสุราแก้หนาว เพราะนอกจากจะไม่ช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายแล้วฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะ ทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน และกดประสาท ทำให้ง่วงซึมและหมดสติและเสียชีวิตได้ ถ้ามีข้อสงสัยถึงอาการของโรคและวิธีปฏิบัติ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422 นพ.ศรายุธ กล่าวเพิ่มเติม.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ