สสค.ย้ำงานวิจัยมาจากเสียงสะท้อนของครู-เป็นไปตามหลักวิชาการ ชี้ควรใช้ผลศึกษาให้เป็นประโยชน์ปรับปรุงหน่วยงานให้ดีขึ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday January 20, 2015 17:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--สสค. ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. ให้สัมภาษณ์ถึงผลสำรวจกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครูว่า ผลสำรวจของสสค.มาจากเสียงสะท้อนของครูและเป็นไปตามหลักวิชาการ โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างครูสอนดี 427 คน จากประชากรครูสอนดี 18,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งมีความอาวุโสมากกว่าครูทั่วไปเล็กน้อยแต่มีการกระจายตัวอยู่ทุกตำบลและมีความแม่นยำ เพราะมีฐานข้อมูลและตัวตนครูที่แน่นอน สิ่งที่ค้นพบก็ไม่ได้มุ่งหวังเจาะจงหรือศึกษาเฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และใช้วิธีสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ซึ่งเป็นวิธีที่เพิ่มความแม่นยำ เพราะมีการสอบถามความเข้าใจจากครูโดยตรง ทำให้สามารถพูดคุยกับครูได้อย่างละเอียด โดยมีครูตอบกลับเกือบ 100% ดร.ไกรยส กล่าวว่า กรณีของสมศ.ก็มาจากปากคำของครู โดยพบว่า ในจำนวนครู 427 คน มีครูที่ไม่ถูกประเมินจากสมศ.อยู่ 120 คน คิดเป็น 28% ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกับการประเมินของสมศ.ที่เข้ามาประเมินโรงเรียนเฉลี่ยปีละ 20% เพราะสมศ.ประกาศว่าจะมีการประเมินโรงเรียนครบ 100% ใน 5 ปี ส่วนเวลา 9 วันคือเวลาเฉลี่ยที่ครูใช้ไปกับการประเมินของสมศ.ในเวลา 1 ปีจึงมีทั้งครูที่ถูกประเมินและไม่ถูกประเมิน ซึ่งการใช้เวลาของครูก็ไม่ได้นับเฉพาะวันที่หน่วยงานนั้นเข้ามาประเมิน แต่นับรวมวันที่ครูต้องใช้เวลาเตรียมเอกสารและการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อรองรับการประเมิน ซึ่งพบว่ามีครูที่ตอบว่าใช้เวลา 3 วันอยู่ 93 คน หรือครูบางคนต้องใช้เวลาเตรียมงานตั้งแต่ 30 วันขึ้นไปอยู่ 63 คน ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานวิจัยตามหลักวิชาการ และเป็นครั้งแรกที่สะท้อนปากเสียงจากครูเพื่อหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งนี้สสค.ยินดีที่จะชี้แจงข้อมูลงานวิจัย แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับจดหมายเชิญร่วมงานแถลงข่าวจากสมศ.แต่อย่างใด นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า หากมองแบบเป็นกลางจะพบว่าทั้งข้อมูลการวิจัยของสสค. และประเด็นที่สมศ.ยกขึ้นมาชี้แจงนั้นไม่ใช่ตัวเลขจริงทั้งหมด แต่เป็นตัวเลขการสำรวจครูบางกลุ่ม ฉะนั้นต้องยอมรับว่า ไม่มีงานวิจัยใดที่สมบูรณ์จึงไม่ควรเสียเวลาเรื่องวันที่ใช้มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งสำคัญคือ ความรู้สึกกังวลใจ และความทุกข์ของครูที่เกิดขึ้นจริงผ่านกระบวนการประเมิน สิ่งที่ควรทำคือ การช่วยกันทบทวนการประเมิน เรื่องตัวชี้วัดต่างๆว่ามีคุณภาพเพียงพอ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพได้ และไม่เป็นภาระให้ครูน่าจะเป็นทางออกร่วมกันที่สมศ.และทุกฝ่ายที่เข้าไปทำกิจกรรมกับครู

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ