กระทรวงไอซีที โชว์ศักยภาพประเทศไทย จัดงานประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 14

ข่าวทั่วไป Thursday January 22, 2015 12:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--โฟร์ฮันเดรท (The 14th ASEAN Telecommunications and Information Technology Ministers Meeting : ASEAN TELMIN 14) รัฐบาลไทย โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัด “การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 14 (The14th ASEAN Telecommunications and Information Technology Ministers Meeting: ASEAN TELMIN 14)” และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 15 (The 15th ASEAN Telecommunications and IT Senior Officials Meetings: TELSOM) ในระหว่างวันที่ 19-23 มกราคม 2558 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อหลัก (Theme) คือ“Transforming ASEAN: Moving Towards Smart Communities” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนความร่วมมือ และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในภูมิภาคอาเซียน และสนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งยังเป็นการส่งเสริม และสนับสนุนบทบาทของประเทศไทยในเวทีภูมิภาคอาเซียน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ มีคณะรัฐมนตรีและผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมฯ โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมในครั้งนี้ นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN TELECOMMUNICATIONS AND IT MINISTERS MEETING หรือ ASEAN TELMIN) เป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมถึงระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU โดยครอบคลุมการพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การลดช่องว่างทางดิจิทัล การส่งเสริมนวัตกรรม การกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนจะหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพเรียงลำดับตามอักษรชื่อประเทศ และครั้งนี้ประเทศไทยจะทำหน้าที่การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยไทยจัดต่อจากประเทศสิงคโปร์ และผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย รัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส และเจ้าหน้าที่ของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม และของคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย สหภาพยุโรป รวมถึงผู้แทนเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และครั้งนี้เลขาธิการอาเซียนได้ตอบรับที่จะมาร่วมประชุมด้วย รวมจำนวนผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 300 คน นอกเหนือจากการประชุมแล้ว จะมีการประกาศผลรางวัล ASEAN ICT AWARD ด้วย โดยการจัดประกวดรางวัล ASEAN ICT AWARDS ได้จัดต่อเนื่องกันมาเป็นครั้งที่ 3 เพื่อส่งเสริมเรื่องของนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ด้าน ไอซีที ทั้ง HARDWARE, SOFTWARE และ SERVICE โดยแต่ละประเทศได้คัดเลือกผลงานนวัตกรรมด้านไอซีที และส่งเข้าประกวดและแข่งขันกับประเทศสมาชิกอื่นๆ โดยรางวัลนี้ จะแบ่งเป็น 6 ประเภท คือ PUBLIC SECTOR,PRIVATE SECTOR, DIGITAL CONTENT, CORPORATE SOCIAL RESPONSIBILITY, STARTUP COMPANYและ RESEARCH AND DEVELOPMENT อีกด้วย นายพรชัย รุจิประภา กล่าวอีกว่า นอกจากที่ประเทศไทยจะทำหน้าที่การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแล้ว ยังจะทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยประเทศไทยจะเสนอและผลักดันประเด็นการพัฒนาด้านไอซีทีสำหรับภูมิภาคอาเซียนในเรื่องต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-SERVCIES) ทั้งภายในประเทศและระหว่างอาเซียน เพื่อประชาชนอาเซียนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้อย่างไร้รอยต่อ สนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภายในอาเซียน โดยส่งเสริมผ่านกรอบแนวทางการสนับสนุนและส่งเสริมการทำธุรกรรมที่มีความมั่นคงปลอดภัยในอาเซียน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและผู้ใช้บริการ ส่งเสริมความร่วมมือเรื่องความมั่นคงปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ของการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเหมาะสม ผ่านการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีระหว่างกันพัฒนาการสร้างทักษะความเชี่ยวชาญแรงงานด้านไอซีทีของอาเซียน โดยส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานทักษะบุคลากรและยกระดับความเชี่ยวชาญของบุคลากรไอซีที การประชุมหารือในครั้งนี้จะนำอาเซียนและประเทศไทยไปสู่เป้าหมายตามแผนแม่บท ASEAN ICT MASTERPLAN 2015 ใน 4 เรื่อง คือ ไอซีทีจะเป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญที่จะผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้อาเซียน (ICT AS AN ENGINE FOR GROWTH) และอาเซียนจะกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านไอซีทีของโลกแห่งหนึ่ง (GLOBAL ICT HUB) และคุณภาพชีวิตของประชาชนอาเซียนจะได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น (ENHANCED QUALITY OF LIFE FOR PEOPLES OF ASEAN) ทั้งยังใช้ไอซีทีในการส่งเสริมการรวมตัวกันของอาเซียนให้แน่นแฟ้นขึ้นในอนาคต (CONTRIBUTION TOWARDS ASEAN INTEGRATION) นอกจากความร่วมมือระหว่างอาเซียนแล้ว ยังมีความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จะมีส่วนสนับสนุนอาเซียนรวมถึงประเทศไทยด้วยโดยจะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการดำเนินโครงการของอาเซียน การพัฒนาและอบรมบุคลากรไอซีทีของอาเซียน ถ่ายทอดความรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน “สำหรับการจัดประชุมครั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ได้มีการหารือ คือเรื่องของการจัดทำแผนแม่บท ASEAN ICT MASTERPLAN ฉบับที่ 2 ซึ่งแผนฉบับแรก คือ ASEAN ICT MASTERPLAN 2015 จะสิ้นสุดในปี 2558 นี้ ดังนั้น อาเซียนจะช่วยกันจัดทำแผนแม่บทด้านไอซีที เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หลังปี 2558 และรองรับประเด็นท้าทายที่เป็น MEGA TREND ไอซีทีใหม่ ๆ เช่น การจัดการข้อมูล (BIG DATA) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DATA PRIVACY) และ CLOUD COMPUTING เป็นต้น โดยแผนแม่บทไอซีทีอาเซียนฉบับที่ 2 จะเป็นแนวทางสำหรับประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนาด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งน่าจะครอบคลุมยุทธศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับ การเป็น ASEAN SINGLE MARKET การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาบุคลากร นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ การรวมกลุ่มของประชาชนอาเซียนโดยใช้ไอซีที สื่อและเนื้อหาสาระ ( NEW MEDIA และ DIGITAL CONTENT) และความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศ เป็นต้น” นายพรชัย รุจิประภา กล่าวสรุปในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ