ระบบจอดรถอัตโนมัติแบบโรตารี่ นวัตกรรมเพื่อลดเวลาการวนหาที่จอด “วิศวะไฟฟ้า มทร.ธัญบุรี”

ข่าวทั่วไป Thursday January 29, 2015 14:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--มทร.ธัญบุรี หนึ่งปัญหาที่ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องประสบ นั่นคือการวนหาพื้นที่จอดรถ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ หรือตามเมืองใหญ่ที่มีการจราจรคับคั่ง เพราะปัจจุบันจำนวนรถยนต์เพิ่มมากขึ้น พื้นที่จอดในบางสถานที่จึงไม่เพียงพอ การขยายพื้นที่จอดรถอาจถูกจำกัดด้วยราคาที่ดินหรือพื้นที่รอบข้างใช้ทำประโยชน์ด้านอื่น ทำให้ไม่สามารถขยายพื้นที่จอดรถได้ แม้จะเพิ่มพื้นที่จอดรถด้วยการสร้างอาคารจอดรถ แต่ยังเกิดปัญหาการขับวนหาที่จอด ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานและเสียเวลา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้ศึกษา ออกแบบและพัฒนาที่จอดรถอัตโนมัติแบบโรตารี่ ในลักษณะแบบจำลองขึ้น ระบบจอดรถอัตโนมัติแบบโรตารี่นี้ ทำงานเหมือนกับชิงช้าสวรรค์ ทำให้รถเข้าไปจอดในตัวกระเช้า ที่ว่าง เมื่อต้องการนำรถออกก็จะหมุนมายังจุดรับรถ โดยแบบจำลองที่นี้สามารถจอดรถได้ทั้งหมด 12 คัน อัตราส่วน 1 ต่อ 28 ของขนาดรถจริง ฝีมือของ นายวรธน ปวงคำ และนายชิตพล รามอ้น นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดยมี อาจารย์สมชาย เบียนสูงเนิน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นที่ปรึกษา “ระบบจอดรถอัตโนมัติแบบโรตารี่นี้ ควบคุมด้วยโปรแกรมไมโครคอนโทรลเลอร์ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่เป็นโครงสร้าง ทำหน้าที่เป็นส่วนที่รองรับรถและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบอัตโนมัติเพื่อจอดรถยังตำแหน่งต่าง ๆ และส่วนของโปรแกรมไมโครคอนโทรลเลอร์ ทำหน้าที่ควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงเพื่อขับเคลื่อนในส่วนโครงสร้างของระบบอัตโนมัติที่จัดทำขึ้น” “ผู้จอดรถหรือผู้ใช้บริการจะต้องแสดงตัวตนผ่านการสื่อสารระยะใกล้ (Near Field Communication) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า NFC ก่อนเข้าจอดเพื่อตรวจสอบสิทธิในการเข้าจอดรถ หากมีสิทธิระบบจะตรวจสอบว่าเป็นการนำรถเข้าจอดหรือนำรถออก โดยการตรวจสอบรถออกเป็นการตรวจว่ารหัสที่อ่านได้จาก NFC นี้ได้เข้ามาจอดแล้ว ระบบก็จะหมุนกระเช้าที่รถของรหัสนั้นมายังจุดรับรถ แต่ถ้าเป็นการเข้าจอด ระบบก็จะหมุนกระเช้าที่ว่างมาที่รับรถ โดยระบบประมวลผลจะเลือกหมุนในทิศทางที่ให้กระเช้าที่ต้องการมาถึงจุดรับรถเร็วที่สุด” เจ้าของผลงาน กล่าว อุปกรณ์ที่ใช้แสดงตัวตนผ่านการสื่อสารแบบ NFC นี้ มีทั้งแบบบัตรที่สามารถพกพาและใส่กระเป๋าได้ แบบชิพ หรือแบบเหรียญ (Token) รวมถึงสามารถแสดงตัวตนผ่านทางมือถือสมาร์ทโฟนที่มีการติดตั้ง NFC ได้อีกด้วย สำหรับส่วนประกอบในระบบจอดรถอัตโนมัติแบบโรตารี่ ประกอบด้วยตัวอ่าน NFC เซ็นเซอร์ตรวจนับกระเช้าจอดรถ อุปกรณ์ควบคุมขนาดเล็กหรือไมโครคอนโทรลเลอร์ และชุดขับมอเตอร์ เจ้าของผลงาน อธิบายต่อว่า จากผลการทดสอบระบบจำลอง พบว่าการหมุนทางเดียวในตำแหน่งไกลสุดใช้พลังงาน 0.53 Wh ที่เวลา 164 วินาที ส่วนระบบที่ได้ออกแบบจะเลือกหมุนในทิศทางที่ใช้เวลาน้อยสุด ซึ่งใช้พลังงาน 0.26 Wh ที่เวลา 88 วินาที แสดงให้เห็นว่าระบบที่ออกแบบได้คำนวณและตัดสินใจเพื่อหมุนในทิศทางที่ใกล้ที่สุดเพื่อประหยัดและมีความเร็วในการนำรถเข้าออกอย่างมีประสิทธิภาพ “นอกจากจะช่วยลดเวลาในการวนหาที่จอดรถ ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานหรือเชื้อเพลิงแล้ว ระบบจอดรถอัตโนมัติแบบโรตารี่นี้ยังประหยัดพื้นที่ในการสร้างที่จอด ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ต้องดูแลลานจอดรถในแต่ละชั้น และที่สำคัญลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุของผู้ขับขี่ที่ต้องขับรถขึ้นลงโดยเฉพาะในอาคารจอดรถที่มีขนาดแคบ ๆ ได้อีกด้วย และพร้อมที่จะพัฒนาต่อไปในเชิงพาณิชย์” เจ้าของผลงาน กล่าวทิ้งท้าย นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าจับตามองและเข้ากับยุคสมัยนี้เป็นอย่างมาก ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า โทร. 02 549 3420
แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ