โพลล์สำรวจผู้ปกครองกลัวแบกภาระค่ากวดวิชาของนักเรียน

ข่าวทั่วไป Friday January 30, 2015 14:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลสำรวจความคิดเห็นต่อค่าเรียนกวดวิชาซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่เผยกลัวแบกภาระค่ากวดวิชาของบุตรหลานเพิ่มเนื่องจากรัฐบาลฟันธงเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาที่เปิดอยู่กว่า 10,000 แห่ง ศ.ศรีศักดิ์กล่าวสรุปว่า สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการให้บุตรหลานเรียนที่โรงเรียนกวดวิชาและการเก็บภาษีเงินได้กับโรงเรียนกวดวิชา โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 -29 มกราคม พ.ศ. 2558 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,103 คนสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 51.31 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.69 เป็นเพศชาย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.55 ร้อยละ 25.48 และร้อยละ 21.21 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 45 ถึง 50 ปี 41 ถึง 45 ปี และ 35 ถึง 40 ปีตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชนคิดเป็นร้อยละ 30.1 ในด้านพฤติกรรมการให้บุตรหลานไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชา กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.82 ระบุว่าในปัจจุบันตนเองให้บุตรหลานในปกครองไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชานอกเหนือจากการเรียนในสถาบันการศึกษาปกติ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.1 ไม่ให้ไปเรียน สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างให้บุตรหลานในปกครองไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชาได้แก่ ต้องการให้บุตรหลานได้เตรียมความพร้อมเพื่อการสอบในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 82.64 ต้องการให้บุตรหลานเพิ่มทักษะความรู้ในวิชานั้นๆ คิดเป็นร้อยละ 80.03 และต้องการให้ผลการเรียนบุตรหลานดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 76.58 ส่วนสาเหตุสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างไม่ให้บุตรหลานไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชาคือ ไม่มีความจำเป็นต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติมคิดเป็นร้อยละ 82.76 สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายคิดเป็นร้อยละ 79.31 และ กลัวบุตรหลานไม่ได้ไปเรียนพิเศษจริงๆคิดเป็นร้อยละ 77.98 ในด้านความคิดเห็นต่อโรงเรียนกวดวิชา กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.41 มีความคิดเห็นว่าโรงเรียนกวดวิชาจะมีส่วนช่วยทำให้นักเรียนนักศึกษามีทักษะความรู้ในวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้นได้จริง แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.76 ไม่เห็นด้วยว่าโรงเรียนกวดวิชามีส่วนช่วยให้นักเรียนนักศึกษาใช้เวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น เล่นเกม เที่ยวเตร่ น้อยลง นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.14 มีความคิดเห็นว่าการสอนในโรงเรียนกวดวิชาของครูอาจารย์จะส่งผลให้ครูอาจารย์เหล่านั้นให้ความสนใจ/มีสมาธิกับการสอนในชั้นเรียนน้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.71 คิดว่าไม่ส่งผล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.15 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.67 มีความคิดเห็นว่าการสอนเพิ่มเติมในโรงเรียนกวดวิชาของครูอาจารย์จะมีส่วนทำให้ครูอาจารย์ผู้นั้นเอาใจใส่/ให้ความสนใจนักเรียนนักศึกษาที่ไปเรียนกวดวิชากับตนเองมากกว่านักเรียนนักศึกษาที่ไม่ได้ไปเรียน และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.41 เคยได้ยินบุตรหลานบ่นเกี่ยวกับครูอาจารย์ที่ “กั๊ก” วิชาในชั้นเรียนเพื่อให้นักเรียนต้องไปเรียนยังโรงเรียนกวดวิชาที่ครูอาจารย์เหล่านั้นสอนอยู่ ในด้านความรับรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้กับโรงเรียนกวดวิชา มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 45.97 ที่ทราบข่าวที่จะให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้จากโรงเรียนกวดวิชา ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 54.03 ไม่ทราบ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามซึ่งคิดเป็นร้อยละ 67.72 เห็นด้วยที่จะให้มีการเก็บภาษีเงินได้กับโรงเรียนกวดวิชา ส่วนกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.75 มีความคิดเห็นว่าการเก็บภาษีเงินได้กับโรงเรียนกวดวิชาจะไม่ส่งผลกับการตัดสินใจของตนเองในการให้/ไม่ให้บุตรหลานเรียนที่โรงเรียนกวดวิชา และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.75 มีความคิดเห็นว่าหากโรงเรียนกวดวิชาขึ้นค่าเรียนอันเนื่องมาจากการถูกเก็บภาษีเงินได้จะไม่ส่งผลให้มีนักเรียนนักศึกษาไปเรียนน้อยลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ