“การลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟื่อย เพิ่มนักท่องเที่ยวได้จริงหรือ??!!! ”

ข่าวท่องเที่ยว Monday February 23, 2015 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--tmd space จากกระแสข่าวที่ว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาเรื่องการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมหรือสินค้าฟุ่มเฟือย เพื่อใช้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาประเทศไทยมากขึ้นนั้น จากการตรวจสอบพบว่าปัจจุบันภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเหล่านี้อยู่ในอัตราที่ต่ำมากแล้ว เนื่องจากมีการปรับลดลงมาโดยตลอด ซึ่งภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเหล่านี้จะอยู่ในอัตราร้อยละ 5 ถึง 30 เท่านั้น อาทิเช่น นาฬิกา มีอัตราภาษีนำเข้าเพียงร้อยละ 5 ของต้นทุนนำเข้า ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยอื่น ๆ เช่น น้ำหอม เครื่อง สำอางค์ กระเป๋า เข็มขัด เครื่องหนัง เสื้อผ้าแฟชั่นต่าง ๆ จะมีอัตราภาษีนำเข้าเพียงร้อยละ 30 ของต้นทุนนำเข้าเท่านั้น การลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมหรือสินค้าฟุ่มเฟือยนั้น ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าจะเป็นตัวดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้มากขึ้นจริง อีกทั้งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยจะใช้เงินมากขึ้นหรือไม่ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจน ดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาในเรื่องนี้ของหลาย ๆ โพลที่มีข้อสรุปแตกต่างกันไป คงไม่สามารถยกผลศึกษาของโพลใดโพลหนึ่งมาตั้ง แล้วสรุปเป็นข้อยุติได้และคงหนีไม่พ้นที่รัฐจะต้องนำผลศึกษาหรือโพลต่าง ๆ เหล่านี้มาพิจารณาให้รอบคอบต่อไป ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยไม่ได้มีเจตนาเข้ามาเที่ยวเมืองไทยด้วยเหตุผลต้องการมาช้อปปิ้งสินค้านำเข้าแบรนด์เนมเลย เขาเหล่านั้นมาเที่ยวเมืองไทยเพราะประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากมายจนทำให้เขาอยากมาสัมผัสดู ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพ พัทยา ภูเก็ตหรือเชียงใหม่ เป็นต้น มีอาหารการกินที่อุดทสมบูรณ์และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก จนเขาอยากมาลองชิมไม่ว่าจะเป็นต้มยำกุ้ง ผัดไทย ผลไม้ต่าง ๆ และที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในการเที่ยวเมืองไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ เขาเหล่านี้หาได้มาเที่ยวเมืองไทยเพราะประเทศไทยมีสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศไว้จำหน่ายเลย ซึ่งเขาหาซื้อที่ไหนก็ได้โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปที่เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้เอง หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่ปัจจุบันสามารถซื้อสินค้าแบรนด์เนมในราคาปลอดภาษีได้ภายในประเทศของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นที่ SANYA หรือ HAIKOU ในประเทศจีนเองเป็นต้น หากเรื่องการลดภาษีถูกพิจารณาจริงแล้วนั้น แน่นอนย่อมส่งผลกระทบทั้งทางภาคเศรษฐกิจและภาคการผลิตภายในประเทศ และกระทบต่อสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ การลดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าฟุ่มเฟื่อยนั้นย่อมทำให้ความแตกต่างของราคาจำหน่ายระหว่างสินค้านำเข้า และสินค้าที่ผลิตในประเทศลดน้อยลง ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตสินค้าไทยภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม SME จะมีกำลังเพียงพอที่จะสู้กับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทยด้วยต้นทุนภาษีนำเข้าที่ต่ำลงจนสามารถทุ่มงบประมาณทางการตลาดได้มากขึ้น และด้วยชื่อเสียงของแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนั้น เมื่อภาคการผลิตของสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศถูกแบรนด์จากต่างประเทศแย่งชิงยอดจำหน่ายภายในประเทศไปแล้วนั้น จนทำให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าภายในประเทศไม่สามารถพึ่งพายอดจำหน่ายสินค้าภายในประเทศได้ ก็จำเป็นจะต้องหันไปพึ่งยอดส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความมั่นคงและเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจของไทย ต้องแขวนอยู่กับการตลาดการบริโภคสินค้าไทยในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ประเทศไทยจะไม่สามารถกำหนดทิศทางด้านเศรษฐกิจด้วยคนในชาติเองได้ เนื่องจากไม่สามารถพึ่งพายอดจำหน่ายภายในประเทศเป็นหลักได้ ผลกระทบอีกด้านหนึ่ง คือ การลดอัตราภาษีนำเข้าจะเป็นผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำสินค้าเข้า และจำหน่ายออกไปเท่านั้น ซึ่งสวนทางกับกระแสโลกหรือสิ่งที่หลายๆท่านในบ้านเรากำลังพูดถึงและผลักดัน คือ Creative Economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ นโยบายที่ภาครัฐกล่าวย้ำอยู่เสมอว่าจะสนับสนุนแบรนด์ไทยให้มีที่ยืนในระดับสากลนั้น คงเกิดขึ้นได้ยากเพราะแม้แต่ภายในบ้านของตัวเองยังหันไปสนับสนุนสินค้าต่างชาติด้วยการลดภาษีให้กับสินค้าเหล่านั้น ต่อกรณีผลกระทบทางสังคมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มองข้ามมิได้ และเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคนี้เป็นยุคของทุนนิยมโดยสมบูรณ์แบบ การแสดงออกถึงความสำเร็จอย่างหนึ่งคือ การใช้สินค้าแบรนด์เนมที่นำเข้าจากต่างประเทศ การลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเปรียบเสมือนตัวส่งเสริมให้คนไทยซึ่งรวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในรุ่นต่อ ๆ ไปหันไปนิยมสินค้าแบรนด์เนมนำเข้าต่าง ๆ ที่มีราคาถูกลงมากขึ้นกว่าที่จะนิยมสินค้าที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศและนำมาซึ่งการใช้จ่ายที่เกินกำลัง ปรากฏการณ์หนี้สินจากบัตรเครดิตจะสูงมากขึ้นเหมือนอย่างหลาย ๆ ประเทศที่ปล่อยให้สินค้าแบรนด์เนมต่าง ๆ ทะลักเข้าสู่ประเทศของตน และนำมาซึ่งการเป็นหนี้เป็นสินจากการซื้อสินค้าเหล่านี้ โดยการใช้เงินในอนาคตเช่น บัตรเครดิตไปซื้อสินค้าแบรนด์เนมต่าง ๆ ก่อให้เกิดหนี้ภาคประชาชนเป็นจำนวนมาก เราคงไม่อยากให้คนในชาติเราเจอภาวะแบบนี้ และแนวคิดการลดภาษีนำเข้านี้นั้นเป็นการสวนกระแสอย่างรุนแรงต่อแนวนโยบายที่ประเทศไทย และคนไทยทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า “ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้ประเทศของเรามีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคงและคนในชาติมีความเป็นอยู่ที่มีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน ” ในมุมของธุรกิจ SME แบรนด์ไทยและผู้ผลิตซึ่งเป็นคนไทยนั้น นโยบายดังกล่าวเปรียบเสมือนการซ้ำเติมคนเหล่านี้จนอาจนำไปสู่การปิดกิจการได้ในเร็ววัน และนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานส่งผลกระทบให้คนไทยตกงาน การที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าที่คนไทยถนัดอาทิเช่น กระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า ในอันดับต้น ๆ ในอาเซียนนั้น รัฐควรหันมาส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าไทยให้เทียบเท่าสินค้าแบรนด์เนมต่าง ๆ เป็นอันดับแรกมากกว่าการออกนโยบายส่งเสริมสินค้าแบรนด์เนมนำเข้ามาโดยการลดภาษีให้สินค้าเหล่านั้น หากรัฐใช้นโยบายดังกล่าวจริง ผู้ประกอบการในประเทศคงล้มหายตายจากไปก่อนที่จะได้มีโอกาสปรับปรุงและพัฒนาสินค้าของตน ดังนั้นหากนโยบายในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 24 ล้านคน โดยเฉลี่ยต่อปี ให้เพิ่มมากขึ้น โดยหวังจะให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่น และท่องเที่ยวโดยการลดภาษีนำเข้าให้กับสินค้าฟุ่มเฟือยหรือแบรนด์เนมและเลือกที่จะให้นักท่องเที่ยวเหล่านั้นเข้ามาซื้อสินค้าแบรนด์เนมนำเข้าในบ้านเรา โดยต้องแลกกับการ ล้มหายตายจากของผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยที่ได้เสียภาษีให้รัฐเป็นจำนวนมากมาย รวมถึงกระทบต่อค่านิยมการบริโภคของคนไทยโดยเฉพาะคนไทยในรุ่นต่อ ๆ ไปแล้วนั้น รัฐคงต้องพิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย และรายได้ที่ได้หรือหายไป อย่างละเอียดรอบคอบก่อนที่จะมีการตัดสินใจในครั้งนี้อย่างจริงจัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ