รมว.พม. ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วน เล็ง ๓๗ จังหวัดในทุกภาค เป็นพื้นที่เร่งด่วน ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก

ข่าวทั่วไป Tuesday February 24, 2015 14:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิด “การประชุมชี้แจงนโยบายในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก” โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากองค์กรเอกชน และสื่อมวลชน จำนวนทั้งสิ้น ๓๐๐ คน เข้าร่วมประชุมณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น ๑ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่เกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัจจุบัน พบว่าปัญหาการค้ามนุษย์ที่ผู้เสียหายหรือเหยื่อเป็นสตรีและเด็ก เป็นปัญหาที่รุนแรงรองจากการบังคับใช้แรงงานในการประมง โดยเฉพาะการขายบริการทางเพศหรือการค้าประเวณีในรูปแบบต่างๆ จากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในปี ๒๕๕๘ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ รวมระยะเวลาเพียง ๒ เดือน มีการจับกุมในคดีค้าประเวณีและคดีค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก ใน ๑๖ จังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง นั่นคือ จังหวัดที่มีสถานบริการเป็นจำนวนมากและมีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า มีการจับกุมและช่วยเหลือเหยื่อที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี จำนวน ๔๙ คน โดยมีสตรีและเด็กชาวต่างชาติที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์มากกว่าคนไทย อีกทั้ง ประเทศไทยมีสถานะความเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก โดยเป็นทั้งประเทศต้นทาง ทางผ่านและปลายทาง ซึ่งในปี ๒๕๕๗ มีผู้เสียหาย ๙๘ คน เป็นคนไทย ๔๕ คน กัมพูชา ๒ คน ลาว ๔๗ คน เมียนมาร์ ๒ คน และอุสเบกิสถาน ๒ คน ทั้งนี้ การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์จำเป็นต้องนำสถานการณ์และประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ที่ผู้เสียหายหรือเหยื่อเป็นสตรีและเด็ก เป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยตกเป็น Tier 3 มาเป็นโจทย์ที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กฎหมาย และการบูรณาการความร่วมมือทั้งระบบ อีกทั้งการป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย การคุ้มครองผู้เสียหายให้ได้รับประโยชน์สูงสุด รวมถึงการลงโทษดำเนินคดีผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวดและจริงจัง พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นประธานคณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก (ศสด.)เพื่อเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรี ผลักดันเร่งรัด ติดตาม เฝ้าระวังรวบรวมข้อมูล และรายงานผลการดำเนินการของราชการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยได้คัดเลือก๓๗ จังหวัดในทุกภาคเป็นพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วน โดยให้ทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการกำกับดูแล และใช้ศูนย์ดังกล่าวขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็กในระดับพื้นที่ของแต่ละจังหวัด ให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม และมีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เป็นเลขานุการศูนย์ฯ ทำหน้าที่เสนอรายงานต่อนายกรัฐมนตรีทุกเดือน ดังนั้น เพื่อให้ทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้จัด “การประชุมชี้แจงนโยบายในการขับเคลื่อนแผน ปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก” ครั้งนี้ขึ้น พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้มอบนโยบายและภารกิจให้ส่วนภูมิภาคดำเนินการตามแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก ซึ่งมีนโยบายที่สำคัญดังนี้ ๑) ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีเด็ก (ศสด.) ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สามารถประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ใน การป้องกัน คุ้มครอง แก้ไข ช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาสตรีและเด็กที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ๒) สืบสวนการจับกุม ดำเนินคดีขบวนการนำสตรีและเด็กมาค้าประเวณี และเอาผิดขั้นร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมกระทำผิดที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ รวมทั้งเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิง ๓) ต้องจัดทำเครื่องมือในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยให้มีการคัดแยกผู้เสียหาย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทุกคน ทุกกรณี มีการอบรมพัฒนาศักยภาพชุดปฏิบัติการคัดแยกผู้เสียหาย และให้แต่ละจังหวัดจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมรองรับผู้เสียหายโดยเฉพาะสตรีและเด็ก ที่ต้องแยกการคัดแยกออกจากกลุ่มผู้เสียหายอื่นๆ ๔) ต้องจัดให้มีล่ามภาษาต่างๆ ให้เพียงพอในการสัมภาษณ์สอบข้อเท็จจริงผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่เป็นคนต่างชาติ ๕) ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการตรวจสอบ ทบทวน และประสาน ความร่วมมือตาม MOU กับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งทำความเข้าใจกับบริษัทท่องเที่ยวเพื่อร่วมป้องกัน Sex Tour ๖) ให้จังหวัดที่มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านสนธิกำลังปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อออกตรวจตราพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และ ๗) ให้ทุกจังหวัดสนธิกำลังปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อจัดระเบียบสถานบริการ และตรวจพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์อย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น “กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดทำยุทธศาสตร์และมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ขึ้น โดยมีมาตรการ ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ สร้างระบบการทำงานที่ประสานสอดรับกัน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีศูนย์ประสานงาน และมีการนำเทคโนโลยี มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยมีเป้าหมายการทำงาน คือ ลดปัญหาการค้ามนุษย์ คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย และให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการตกเป็นประเทศระดับ Tier 3 ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ และให้ผู้เสียหายได้รับการปกป้องสิทธิ คุ้มครองสวัสดิภาพ และฟื้นฟูเยียวยา ให้ผู้กระทำผิดถูกดำเนินการตามกฎหมาย และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็กให้สำเร็จลุล่วง และเห็นผลเป็นรูปธรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ