แนวโน้มตลาดอสังหาฯ ’58: ตลาดอาคารสำนักงานและค้าปลีกในกรุงเทพฯ

ข่าวอสังหา Thursday February 26, 2015 14:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ซีบีอาร์อี ในปีที่ผ่านมาตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพมหานครยังคงเติบโตแม้จะเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง ปริมาณการใช้พื้นที่และค่าเช่ายังปรับตัวสูงขึ้นตลอดทั้งปี สำหรับปี 2558 นี้ ซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่า อัตราพื้นที่ว่างในอาคารสำนักงานจะยังลดลงต่อไปและค่าเช่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอีก ทว่าพื้นที่ว่างอาจจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวเนื่องจากจะมีพื้นที่สำนักงานใหม่เพิ่มเข้าสู่ตลาดในปีนี้ ส่วนตลาดพื้นที่ค้าปลีกของกรุงเทพฯ จะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นในย่านชานเมืองระหว่างศูนย์การค้าแห่งใหม่และศูนย์การค้าที่มีอยู่เดิม กรุงเทพฯเป็นหนึ่งในทำเลทองของการพัฒนาโครงการค้าปลีกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในช่วง 2 -3 ปีข้างหน้านี้จะมีพื้นที่ค้าปลีกใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 1.7 ล้านตารางเมตร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่จะอยู่ในย่านชานเมืองที่เป็นแหล่งที่พักอาศัยเกิดใหม่และบริเวณส่วนต่อขยายระบบรถไฟฟ้า ตลาดอาคารสำนักงาน อัตราพื้นที่ว่างในอาคารสำนักงานในปี 2557 นั้นอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10% และซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่าจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าวในปี 2558 จากการคาดการณ์ของซีบีอาร์อี จะมีพื้นที่สำนักงานใหม่เพิ่มเข้าสู่ตลาดในปีนี้อีกราว 200,000 ตารางเมตร และเป็นที่คาดการณ์ว่าความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานในปีนี้จะเพิ่มขึ้นในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน “แม้ว่าตลาดอาคารสำนักงานจะชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 แต่ทว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดก็กลับมาคึกคักอีกทั้งนี้เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่ดีขึ้น จึงทำให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายนิธิพัฒน์ ทองพันธุ์ กรรมการบริหาร หัวหน้าแผนกจัดหาพื้นที่สำนักงาน ซีบีอาร์อี กล่าว ตัวอย่างเช่น ปริมาณการใช้พื้นที่ในอาคารเอไอเอ แคปปิตอล ทาวเวอร์แตะระดับมากกว่า 60% ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากอาคารก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแม้ว่าในช่วงต้นปีมีหลายบริษัทที่ตัดสินใจระงับแผนการขยายตัวก็ตาม ทั้งนี้ในปี 2558 อาคารภิรัช ทาวเวอร์ แอท เอ็มควอเทียร์ และเอไอเอ สาทร ทาวเวอร์ จะพร้อมเปิดให้บริการ ซึ่งทั้งสองอาคารเป็นสำนักงานระดับเกรดเอในย่านซีบีดี และน่าจะได้รับความสนใจจากผู้เช่าทั้งบริษัทไทยและต่างชาติ ดังนั้น ซีบีอาร์อีจึงคาดว่าราคาค่าเช่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เพียงแต่อยู่ในอัตราที่ช้าลง เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ มากกว่าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ตลาดพื้นที่ค้าปลีก “สำหรับตลาดพื้นที่ค้าปลีก เราจะได้เห็นถึงการแข่งขันกันระหว่างผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่” นายเจมส์ พิทชอน กรรมการบริหาร หัวหน้าแผนกวิจัย ซีบีอาร์อีกล่าว ซึ่งหมายถึงการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นของห้างค้าปลีกในทุกรูปแบบโครงการ ห้างค้าปลีกแห่งใหม่ๆ กำลังเกิดขึ้นมาเพื่อขับเคี่ยวกับห้างค้าปลีกเดิมที่เป็นที่รู้จักมาอยู่ก่อนแล้ว อย่างเช่น แบงค็อก มอลล์ ที่จะขึ้นมาแข่งขันกับเมกาบางนาและเซ็นทรัล พลาซ่า บางนา นอกจากนั้น เมการังสิต ซึ่งจะเปิดตัวพร้อมกับอิเกียแห่งที่สองในประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้เช่าหลักก็จะขึ้นมาขับเคี่ยวกับ ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าตลาดในย่านนั้น ในช่วงหลังมานี้ คอมมิวนิตี้ มอลล์ได้กลายเป็นรูปแบบโครงการค้าปลีกที่ได้รับความนิยม แต่ยังคงต้องจับตาดูว่ามีกี่แห่งที่จะสามารถอยู่รอดได้จริง เพราะผลประกอบการของแต่ละแห่งนั้นแตกต่างกัน โครงการ ลา วิลล่า ที่อยู่ติดกับบีทีเอสสถานีอารีนับว่าเป็นโครงการคอมมิวนิตี้ มอลล์ที่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีทำเลที่ตั้งที่ดี มีประชากรในย่านนั้นหนาแน่น ซึ่งรวมถึงคนที่อาศัยและทำงานในพื้นที่ การเดินทางไปยังโครงการที่ทำได้โดยสะดวก ความหลากหลายของผู้เช่า และไม่มีคู่แข่งโดยตรงที่อยู่ในทำเลเดียวกัน แต่สำหรับในทำเลอื่น คอมมิวนิตี้ มอลล์หลายแห่งยังต้องเผชิญกับอัตราการเช่าพื้นที่ที่อยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในทำเลใจกลางเมืองก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนคอมมิวนิตี้ มอลล์ยังคงมีเพิ่มมากขึ้นในแถบชานเมือง ส่วนราคาค่าเช่าและการเข้าใช้พื้นที่นั้นต้องขึ้นกับปัจจัยหลายประการด้วยกัน อาทิ ทำเล ระดับของโครงการ และชื่อเสียงของผู้ประกอบ นอกจากนี้ ซีบีอาร์อียังจับตามองการขยายตัวของของโครงการค้าปลีกในต่างจังหวัด กำลังซื้อที่มีน้อยซึ่งมีสาเหตุจากหนี้ส่วนบุคคลที่สูงและราคาผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำได้ส่งผลกระทบในทำเลดังกล่าว ติดตามข่าวสารด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทย หรือ ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกจากซีบีอาร์อีเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: CBRE.Thailand และ CBRE.Condo.Society / Twitter: @CBREThailand / YouTube: CBREThailand
แท็ก อสังหาฯ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ