สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร “เปิดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นมุสลิมกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการ”

ข่าวทั่วไป Friday February 27, 2015 14:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ วันนี้ (21 ก.พ. 58) เวลา 10.00 น. ที่ อาคาร 55 สาขาวิศวกรรมเครื่องนุ่งห่ม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมือง จ.สงขลา สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร “เปิดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นมุสลิมกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการ” โครงการวิจัยนวัตกรรมการใช้หัวบอนและสีย้อมธรรมชาติในกระบวนการผลิตสิ่งทอ และเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน สำหรับโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 3 ประจำปีงบประมาณ 2558กิจกรรมที่ 2 ในปีนี้ จะเน้นถึงการสร้างความแตกต่างและเพิ่มคุณค่าใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม ด้วยการนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมจากผ้าบาติกด้วยเทคโนโลยีธรรมชาติและเขียนลายด้วยหัวบอน รวมทั้งการใช้เส้นใยธรรมชาติในผ้าทอพื้นเมือง ซึ่งจะเกิดองค์ความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมให้กับผู้ประกอบการ และสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจารย์พันธ์ยศ วรเชฐวราวัตร์ จากสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องนุ่งห่ม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หนึ่งในทีมนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม เปิดเผยว่า การพัฒนาเทคนิคการเขียนบาติกด้วยแป้งจากหัวบอน นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ประกอบการเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการนำหัวบอนที่มีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติมาผ่านกระบวนการเตรียมแป้งบอน ผสานเทคนิกการผสมแป้งเพื่อนำมาใช้เขียนลายผ้าบาติก ทดแทนเทียนและพาราฟินที่ต้องนำเข้าและมีราคาแพง แต่ยังคงประสิทธิภาพสูงในการกั้นสี ลดความยุ่งยาก ลดต้นทุน และง่ายต่อกระบวนการล้างแป้งออกจากชิ้นงาน อีกทั้งยังเพิ่มความเป็นอัตลักษณ์ให้กับผืนผ้าบาติกโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีการย้อมสีธรรมชาติ ด้วยการนำพืชท้องถิ่นใต้ เช่น ใบยางพารา เปลือกยางพารา ใบลองกอง เปลือกโกงกาง เปลือกสะเดา ดอกดาหลา ส้มแขก มาสกัดน้ำสีและตกแต่งย้อมสีโดยพัฒนาการติดสีและความคงทนของสีธรรมชาติบนผืนผ้า ซึ่งจะสร้างเอกลักษณ์คุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทั้งผ้าบาติก เครื่องแต่งกายมุสลิม และส่งเสริมมูลค่าให้กับพืชในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ด้านนายชาญวิทย์ ดารามิตร เจ้าของศูนย์ส่งเสริมศิลปะหาดใหญ่ บาติก เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ประกอบการ จากการเข้าร่วมกิจกรรมที่สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจัดขึ้นครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจ และยังเป็นการเพิ่มทักษะในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมใหม่ ทั้งการใช้เทคโนโลยีสีธรรมชาติและการเขียนลายด้วยหัวบอน สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิม ให้มีการผสมผสานจุดเด่นด้าน อัตลักษณ์ ภูมิปัญญา ทุนวัฒนธรรมและนวัตกรรมด้านสีธรรมชาติและการเขียนลายด้วยหัวบอนมาใช้สร้างสรรค์สินค้าใหม่ที่มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ช่วยเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการดำเนินธุรกิจ สร้างคุณค่าให้กับสินค้าแบบยั่งยืนงดงาม และสามารถต่อยอดขยายผลให้เกิดความสำเร็จในวงกว้างได้เป็นอย่างดี สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมฯ ได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 พระโขนง คลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 224 หรือเข้าไปที่ www.muslim-thti.org , www.thaitextile.org/muslim

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ