สบส.จัดเวทีรับฟังความเห็น พรบ.กองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... เพื่อให้ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการทางสาธารณสุขได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม

ข่าวทั่วไป Monday March 2, 2015 14:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติกองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ในเขตพื้นที่ภาคกลาง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นหลักการเยียวยา หลักการชดเชย การยุติคดีแพ่ง และการคุ้มครองทางอาญาผู้ให้บริการสาธารณสุข ให้เกิดความชัดเจน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสบส.มีหน้าที่หลักในการพัฒนาและปรับปรุงกลไกการบังคับใช้กฎหมาย การคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพ กำหนดจัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติกองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ในเขตพื้นที่ภาคกลางขึ้น เพื่อดำเนินการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ในแผนพัฒนากฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 ทำหน้าที่ศึกษาปัญหาอุปสรรคและแนวทางการเยียวยาผลกระทบหรือความเสียหายจากการให้หรือการรับบริการสาธารณสุข โดยการจัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เน้นหลักการที่แตกต่างจากหลักการฉบับเดิมใน 10 หลักการ คือ 1.หลักการเยียวยา 2.หลักการชดเชย 3.กลไกการขอรับเงินชดเชย 4.ผู้ได้รับผลกระทบตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ ต้องดำเนินการได้เฉพาะตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ 5.การยุติคดีแพ่ง 6.การฟ้องคดีต้องฟ้องกองทุนหรือสำนักงาน 7.การคุ้มครองผู้ให้บริการสาธารณสุข 8.กรณีอาญา หากผู้ให้บริการถูกฟ้องเป็นจำเลย ศาลสามารถลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ลงโทษเลยได้ เว้นแต่กรณีทำความผิดที่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 9.ผู้ให้บริการสาธารณสุขไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน และ10.กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการจะมาทำหน้าที่กำหนดแนวทางในการเยียวยาผลกระทบหรือความเสียหายจากการให้หรือรับบริการสาธารณสุข ด้าน นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดทำร่าง พระราชบัญญัติดังกล่าว ว่ากรม สบส.ได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ 4 ภาค คือ ภาคใต้ จ. นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2258 ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ วันที่ 4 และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 โดยร่วมกับประชาคมสาธารณสุข ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 และครั้งนี้ในส่วนของภาคกลาง โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน องค์กรแพทย์ คณะอนุกรรมการมาตรา 41 ระดับจังหวัด กลุ่มงานประกันสังคม ทีมเจรจาไกล่เกลี่ย เขตสุขภาพ คณะแพทย์ในพื้นที่ โรงพยาบาลเอกชน และภาคสภาวิชาชีพและผู้ให้บริการส่วนอื่นๆ ในส่วนของภาคผู้รับบริการเครือข่ายภาคประชาชน โดยเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคประชาชน เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และภาคส่วนอื่นๆ จะจัดขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม 2558 และภาคสภาวิชาชีพและผู้ให้บริการส่วนอื่นๆ จะจัดขึ้นในวันที่ 10 มีนาคม 2558 โดยมีสภาวิชาชีพทุกวิชาชีพและหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (บุคลากรทางการแพทย์สังกัดกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ร่วมเข้าเวทีประชาพิจารณ์ ซึ่งจะมีการนำเสนอผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขภายในวันที่ 16 มีนาคม 2558 ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ