ปฏิรูป E(H)IA ปกป้องกระบี่ ยุติยุคถ่านหิน

ข่าวทั่วไป Friday March 6, 2015 13:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินรวม 5 คน เดินรณรงค์หยุดถ่านหินและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(และสุขภาพ)ของประเทศไทยโดยทันที การเดินรณรงค์ครั้งนี้จะเข้าพบคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อหยิบยกความไม่ชอบธรรมของกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ ก่อนที่ คชก. จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับดังกล่าวในวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2558 นี้ การเดินรณรงค์เพื่อเข้าพบ คชก. ในวันนี้เป็นการเดินเท้าระยะทางกว่า 13 กิโลเมตรไปยังหน่วยงานรัฐและสถาบันอุดมศึกษาที่ คชก. แต่ละท่านสังกัดอยู่ โดยวันนี้วางแผนเข้าพบ คชก. ทั้งหมด 4 ท่าน และจะยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ คชก. อีก 4 ท่านในวันที่ 5 มีนาคมที่จะถึงนี้ การเดินรณรงค์ในวันนี้เริ่มต้นที่กรมควบคุมมลพิษ ไปยังคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสิ้นสุดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ดุลยพินิจและความกล้าหาญทางจริยธรรมของ คชก. ทั้ง 8 ท่าน จะกำหนดอนาคตของกระบี่ว่าจะเป็นมรกตแห่งอันดามันหรือตกอยู่ใต้เงามืดของถ่านหิน กระบวนการ EIA ของโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินที่คลองรั้วนี้ไร้ความชอบธรรมตั้งแต่ต้น นอกจากไม่คำนึงถึงข้อโต้เถียงของทุกฝ่าย ตลอดจนผลกระทบในด้านต่างๆ ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงแล้ว ยังละเลยถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ (Krabi river estuary) ในฐานะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ เป็นศูนย์กลางของความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่ทำมาหากิน การผลิตอาหารและฐานทรัพยากรของชุมชนในพื้นที่ อีกทั้งเป็นฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ยั่งยืนที่ทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศอีกด้วย” นายสมนึก กรดเสือ ตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน กล่าว โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้วเป็นโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อขนถ่ายถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลียหรือแอฟริกา มาเป็นเป็นเชื้อเพลิงในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิตติดตั้ง 870 เมกะวัตต์ จุดของโครงการท่าเทียบเรือตั้งอยู่ ณ ตําบลตลิ่งชัน อําเภอคลองขนาน จังหวัดกระบี่ ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่มีสถานะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ (Wetland of International Importance) ช่วงปี 2557 ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในแต่ละครั้งสะท้อนชัดเจนถึงกระบวนการการจัดทำ E(H)IA ที่ล้มเหลวและขาดความชอบธรรม ยกตัวอย่างเช่น ในการรับฟังความคิดเห็นของและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2557 มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การข่มขู่ความปลอดภัยของแกนนำในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการสร้างท่าเทียบเรือและโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยการใช้ความรุนแรงทั้งทางวาจา และทางร่างกายในระหว่างการแสดงความคิดเห็น นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ประเทศไทยต้องเร่งปฏิรูประบบ E(H)IA ทั้งระบบอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอให้มีกำกับดูแล จากหน่วยงานอิสระด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่แยกจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อให้กระบวนการจัดทำรายงาน E(H)IA เป็นไปตามหลักการทางวิชาการอย่างแท้จริง มีความยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้” “ขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายพลังงานระดับชาติต้องมีวิสัยทัศน์และเจตจำนงทางการเมืองที่มุ่งมั่นต่อระบบพลังงานหมุนเวียนผสมผสานและกระจายศูนย์ที่เป็นความมั่นคงด้านพลังงานที่แท้จริง มิใช่การเสพติด “ถ่านหิน” ซึ่งไม่มีอนาคตในสังคมที่ยั่งยืนและปลอดภัย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยุติยุคของถ่านหิน” นายธารากล่าวทิ้งท้าย หมายเหตุ เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินประกอบด้วย 1.กลุ่มรักลันตา 2.กลุ่มพิทักษ์ปกาสัย 3.สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวลันตา 4.สมาคมผู้ประกอบการโรงแรมเกาะลันตา 5. มูลนิธิอันดามัน 6. ศูนยสร้างเสริมจิตสานึกนิเวศวิทยา 7. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8. สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 9. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพฒันาเอกชนภาคใต้(กปอพช) 10.โครงการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารชายฝั่งภาคใต้ 11.กลุ่มรักตรังปกป้องตรัง 12.กลุ่มรักษ์อันดามัน 13.กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมปกาสัยจังหวัดกระบี 14. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ 15. เครือข่ายประมงพื้นบ้านจงัหวัดกระบี่ 16.องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน 17.เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา อันดามัน 18. เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ 19. เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน 20. เครือข่ายถ่านหิน ประเทศไทย Thailand Coal Network 21.เครือข่ายถ่านหินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Asia Coal Network 22.มูลนิธินโยบายสุขภาวะ23. เครือข่ายนักวิชาการ EIA EHIA Watch Thailand 24. สมาคมคนรักษ์เลกระบี่ 25. มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้าไทย 26. กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านเกาะกลาง จ.กระบี่ ประชาชนสามารถร่วมส่งเสียงเพื่อแสดงพลังหยุดถ่านหินได้ที่ http://protectkrabi.org/apps/ รายชื่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม 1. รศ. ดร. พูลศักดิ์ เพียรสุสมรองศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. รศ. ดร. วิญญู รัตนปิติกรณ์รองศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา (CET) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 3. นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ 4. นายสุวิทย์ ชุมนุมศิริวัฒน์อาจารย์ที่ปรึกษาประจำภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 5. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดีผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน 6. นายวัฒนสิทธิ์ ศิริวงศ์อาจารย์ ดร. วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และผู้ช่วยคณบดีส่วนการศึกษา วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7. นาวาเอกเทวัญ สุจริตวงศานนท์ผู้อำนวยการกองวิทยาการ กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และผู้อำนวยการฝึกผสมร่วมคอบร้าโกลด์ 2015 8. นางสาวคนางค์ คันธมธุรพจน์อาจารย์ ดร. สังกัดภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ