โรงพยาบาลตำรวจจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ใช้เทคโนโลยีสามมิติความละเอียดสูงใหม่ล่าสุดผ่าตัดเกือบทุกอวัยวะทุกโรค

ข่าวทั่วไป Friday March 6, 2015 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--Vivaldi PR หน่วยผ่าตัดผ่านกล้องศัลยกรรม กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลตำรวจ เผยได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง โดยได้รับมอบและเปิดใช้งานชุดผ่าตัดผ่านกล้องแบบสามมิติความละเอียดสูงรุ่นใหม่ล่าสุด นับเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งแรกในประเทศไทย ที่ใช้ระบบผ่าตัดผ่านกล้องแบบสามมิติแทนที่การผ่าตัดผ่านกล้องสองมิติแบบทั่วไป โดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับผู้ป่วยแต่อย่างใด ชี้สามารถนำมาใช้ตรวจได้เกือบทุกอวัยวะและทุกโรค ทั้งมะเร็งและการผ่าตัดในอวัยวะภายในต่างๆ อาทิ ไส้ติ่ง ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร ตับและตับอ่อนการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนทุกชนิด การผ่าตัดก้อนที่เต้านมตลอดจนการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วนน้ำหนักเกิน ลดภาวะเหงื่อออกมาก หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดหลอดเลือดฟอกไต ว่าที่ ร.ต.อ.นพ.อังกูร อนุวงศ์ แพทย์ประจำหน่วยผ่าตัดผ่านกล้องศัลยกรรม กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลตำรวจเปิดเผยว่า “กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลตำรวจได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง (Minimally Invasive Surgery Excellent Center) ขึ้น โดยได้รับมอบและเปิดใช้งาน ชุดผ่าตัดผ่านกล้องแบบสามมิติความละเอียดสูงรุ่นใหม่ล่าสุด (3D Hi Definition Laparoscopic Surgery) ทั้งนี้ การผ่าตัดแบบส่องกล้องแบบสามมิติความละเอียดสูงได้ถูกประยุกต์ใช้ได้เกือบทุกอวัยวะและเกือบทุกโรคในร่างกาย ทั้งโรคพื้นฐานและโรคที่มีความยุ่งยากซับซ้อนสูง เช่น มะเร็งต่างๆ รวมถึงการผ่าตัดในอวัยวะภายใน ได้แก่ ไส้ติ่ง ถุงน้ำดี หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ม้าม ต่อมหมวกไต ตับและตับอ่อนรวมถึงท่อน้ำดี ไต ต่อมลูกหมาก ปอด ไทรอยด์ การผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนทุกชนิด การผ่าตัดก้อนที่เต้านม ตลอดจนการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วนน้ำหนักเกิน การผ่าตัดเพื่อลดภาวะเหงื่อออกมาก หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดหลอดเลือดฟอกไต ก็สามารถทำการผ่าตัดส่องกล้องได้ โดยโรงพยาบาลตำรวจเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งแรกในประเทศไทย (รวมถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและโรงเรียนแพทย์) ที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาเริ่มใช้ในการผ่าตัดจริงตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2557 ที่ผ่านมา” การผ่าตัดแบบส่องกล้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อลดขนาดแผลผ่าตัดให้เล็กลงและทำให้คนไข้ฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งจะเห็นถึงข้อดีอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในการผ่าตัดบริเวณช่องท้อง ซึ่งการผ่าตัดแบบเดิม คนไข้จะต้องถูกเปิดช่องแผลขนาดราว 30 ซม. แต่ในการผ่าตัดแบบส่องกล้องจะเปิดช่องแผลขนาดเพียง 0.5 - 1 ซม. จำนวน 3 – 4 แผลเท่านั้น และสอดกล้องที่มีเลนส์รูปแท่งซึ่งมีกำลังขยายถึง 20 เท่า พร้อมอุปกรณ์คีบจับและอุปกรณ์ตัดชิ้นเนื้อเข้าไปในร่างกายคนไข้ ร่างกายของคนไข้จึงบอบช้ำน้อยกว่า โดยจะรู้สึกเจ็บบริเวณแผลน้อยมาก และลดระยะเวลาการนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายของคนไข้อีกทางหนึ่ง “สำหรับการผ่าตัดแบบส่องกล้องแบบเดิม สัญญาณภาพจากเลนส์ที่สอดเข้าในร่างกายคนไข้จะแสดงผลเป็นภาพ 2 มิติ เหมือนการชมภาพบนจอโทรทัศน์ทั่วไป แต่ภาพจากการผ่าตัดผ่านกล้องสามมิติจะมีทั้งความกว้าง ความยาวและความลึก ทำให้การหยิบจับหรือตัดอวัยวะมีความแม่นยำเกือบ 100 % โดยขณะทำการผ่าตัด ศัลยแพทย์ ผู้ช่วยและพยาบาลต้องสวมแว่นตาสามมิติ คล้ายกับการชมภาพยนตร์สามมิติในโรงภาพยนตร์” ว่าที่ ร.ต.อ.นพ.อังกูรเผย ขั้นตอนของการผ่าตัดส่องกล้องโดยทั่วไป ผู้ป่วยจะได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจและนำสลบโดยวิสัญญีแพทย์ จากนั้น ศัลยแพทย์จะลงแผลเล็กๆขนาดประมาณ 1 ซม. และ 0.5 ซม. จำนวน 3-4 แผล ที่หน้าท้องหรือบริเวณที่จะผ่าตัดอื่นซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดและอวัยวะของการผ่าตัด จากนั้นจะทำการสอดกล้องที่มีเลนส์รูปร่างเป็นแท่งที่มีความยาวประมาณ 30 ซม. และสอดอุปกรณ์คีบ จับ หรือตัดอวัยวะและชิ้นเนื้อเข้าไปในร่างกายเพิ่มเติมในบริเวณที่ต้องการผ่าตัด สัญญาณภาพจะถูกส่งผ่านเลนส์รูปร่างแท่งยาว เข้ามายังกล่องประมวลภาพ และถูกแสดงภาพขึ้นทางหน้าจอทีวีทางการแพทย์เพื่อใช้ในการผ่าตัด ศัลยแพทย์และผู้ช่วยจะมองการผ่าตัดผ่านทางหน้าจอนี้ ซึ่งปกติแล้วในการผ่าตัดผ่านกล้อง สัญญาณภาพที่ได้จะเป็น 2 มิติ เหมือนการชมภาพยนตร์ทางหน้าจอทีวีทั่วไป ในปัจจุบันภาพที่ได้จากชุดผ่าตัดส่องกล้องรุ่นใหม่ๆ ได้ เริ่มปรับเปลี่ยนเป็นแบบความละเอียดสูง Hi Definition (HD) โดยจะแสดงสัญญาณภาพบนหน้าจอที่ความละเอียด 1080i หรือ 1080p (1920 x 1080 จุด) ผ่านทางหน้าจอความละเอียดสูงทางการแพทย์ (medical grade monitor) สู่เทคโนโลยีภาพเคลื่อนไหวสามมิติ เทคโนโลยีการฉายภาพแบบสามมิติ ได้ถูกพัฒนาไปอย่างมาก จากที่ฉายภาพยนตร์สามมิติตามโรงภาพยนตร์แต่เพียงอย่างเดียว ปัจจุบันมีการพัฒนาทีวีสามมิติจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไปตามบ้าน ถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว ซึ่งภาพเคลื่อนไหวสามมิติที่ปรากกฎทางหน้าจอ ก็คือการที่เราสามารถเห็นมิติของภาพ มีความกว้าง ความยาว และ มีความลึก หรือลอยให้เห็นได้อย่างชัดเจน เสมือนเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆโดยตรง ต่างจากภาพสองมิติทั่วไปซึ่งแสดงได้แค่ 2 มิติที่มีเพียงแค่ ความกว้าง และความยาวบนหน้าจอแบนราบ เท่านั้น ในหลักการของการสร้างภาพบนทีวีสามมิตินั้น ภาพ 3 มิติจะถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยหลักทางกายภาพที่ว่า ตาข้างซ้าย และตาข้างขวาของคนเราจะมองวัตถุเดียวกัน ที่ตำแหน่งของตาไม่เท่ากัน และภาพทีได้จากตาแต่ละข้างจะมีความเหลื่อมกันอยู่เล็กน้อย จากหลักการนี้ เมื่อทำการฉายภาพสองภาพที่เหลื่อมกันเล็กน้อยลงไปบนหน้าจอเดียวกัน เราจะเห็นภาพบนหน้าจอเป็นภาพซ้อน แต่หากมองภาพผ่านแว่นตาที่มีฟิลเตอร์ Polarize ที่สามารถกรองแสงนำภาพเข้าตาซ้ายและขวาได้ต่างกัน สมองจะแปลสัญญาณภาพนั้นออกมาเป็น ภาพลอยแบบสามมิติเหมือนมองวัตถุจากตาปกตินั่นเอง หลักการนี้เรียกว่าภาพสามมิติแบบ Polarized 3D หรือ Passive 3D ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในโรงภาพยนตร์แบบสามมิติในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยีอีกชนิดที่ส่งภาพเข้าตาซ้ายและขวาสลับกันอย่างรวดเร็วที่เรียกว่า Frame Sequential 3D หรือ Active 3D เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งปัจจุบันถือว่าภาพยนตร์สามมิติและทีวีสามมิติได้รับความนิยมแพร่หลายและราคาถูกลงมากเมื่อเทียบกับอดีต ระบบการผ่าตัดส่องกล้องสามมิติความละเอียดสูง ในปัจจุบันนี้ มีการพัฒนาเทคโนโลยีสามมิติเข้าสู่การผ่าตัดผ่านกล้อง โดยได้มีการพัฒนากล้องที่ใช้ในการผ่าตัดให้สามารถถ่ายและบันทึกภาพ โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับกล้องที่ใช้ถ่ายภาพยนตร์สามมิติ เพียงแต่ลดขนาดลงมาให้เหลือเพียงแค่เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. และ ขนาดยาวประมาณ 30 ซม. เท่านั้น และได้หน้าพัฒนาจอแบบสามมิติให้มีคุณภาพที่มากขึ้นกว่าทีวีสามมิติที่มีการจำหน่ายในท้องตลาด ประโยชน์จากเทคโนโลยีผ่าตัดส่องกล้องสามมิติความละเอียดสูง โดยปกติแล้ว ภาพที่เกิดจากการผ่าตัดส่องกล้องแบบสองมิติจะมีแค่ความกว้างและยาวเท่านั้น ซึ่งคล้ายกับการดูภาพยนตร์ผ่านทางหน้าจอ แต่ภาพที่เกิดจากการผ่าตัดส่องกล้องแบบสามมิติจะมีทั้งความกว้าง ความยาว และมีความลึก เพิ่มขึ้นอีกมิติ เสมือนตาของศัลยแพทย์เข้าไปอยู่ในช่องท้องของผู้ป่วยจริง ทำให้การหยิบจับหรือตัดอวัยวะผ่าทางอุปกรณ์ส่องกล้องมีความแม่นยำแทบจะ 100 % เนื่องจากศัลยแพทย์สามารถมองและแยกอวัยวะในช่องท้อง โดยเฉพาะอวัยวะเล็กๆ เช่น เส้นเลือดหรือเส้นประสาท ได้ชัดเจนมากขึ้น จึงช่วยลดอัตราการบาดเจ็บต่ออวัยวะ ลดเวลาในการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นั่นหมายถึงผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดส่องกล้องแบบสามมิติจะมั่นใจได้ว่าการผ่าตัดของตนเองจะปลอดภัยมากขึ้นในทางอ้อม โดยการผ่าตัดส่องกล้องด้วยเทคโนโลยีกล้องสามมิตินี้สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งกับโรคพื้นฐานและโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนสูง เช่น มะเร็งต่างๆ รวมถึงการผ่าตัดในอวัยวะภายใน ได้แก่ ไส้ติ่ง ถุงน้ำดี หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ม้าม ต่อมหมวกไต ตับและตับอ่อนรวมถึงท่อน้ำดี ไต ต่อมลูกหมาก ปอด ไทรอยด์ การผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนทุกชนิด การผ่าตัดก้อนที่เต้านม ตลอดจนการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วนน้ำหนักเกิน การผ่าตัดเพื่อลดภาวะเหงื่อออกมาก หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดหลอดเลือดฟอกไต ก็สามารถทำการผ่าตัดส่องกล้องสามมิติความละเอียดสูงได้ สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถขอรับการตรวจและผ่าตัดส่องกล้องสามมิติได้ที่ คลินิกโรคศัลยกรรม อาคารอำนวยการชั้น 3 โรงพยาบาลตำรวจ หมายเลขติดต่อ 02-207 6000
แท็ก ผ่าตัด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ