กฎหมายศุลกากรใหม่ ไฉไลกว่าเดิม

ข่าวทั่วไป Wednesday March 11, 2015 17:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--สำนักบริหารกลาง กรมศุลกากร ดร.สมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กฎหมายศุลกากรที่ออกมาใหม่นี้เป็นนิมิตหมาย ที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ เพราะมีหลายเรื่องที่เอื้อต่อการประกอบกิจการ อำนวยความสะดวกทางการค้ามากขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ลดขั้นตอนต่างๆ ซึ่งกฎหมายใหม่ของกรมศุลกากรมี 3 ฉบับ ได้แก่พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2557 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๗ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้ เรื่องแรก กฎหมายใหม่ได้มีการกำหนดคำจำกัดความของ “การถ่ายลำ” และ “การผ่านแดน” ให้มีความชัดเจน ไม่ต้องตีความกันให้ยุ่งยาก กำหนดชัดว่า ของผ่านแดน ของถ่ายลำไม่ต้องเสียภาษี แต่ไม่ต้องกังวลว่าเราจะยอมให้ใครมาผ่านแดนกันง่ายๆ การผ่านแดนจะเป็นไปอย่างเสมอภาคและภายใต้กติการ่วมกัน ตามที่กำหนดไว้ในความตกลงระหว่างประเทศที่จะจัดทำขึ้น ส่วนในเรื่องการทำงานของเจ้าหน้าที่นั้น สรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องยังมีอำนาจในการตรวจค้นจับกุมของผิดกฎหมายหรือ ของอันตรายได้เพื่อมิให้เกิดอันตรายแก่ประเทศไทย ขอให้ทุกท่านสบายใจ ในเบื้องต้นขณะที่กฎหมาย ออกบังคับใช้ใหม่อาจจะมีขลุกขลักบ้าง แต่กรมศุลกากรได้พยายามเตรียมการรองรับไว้ในเบื้องต้นแล้ว แต่เมื่อพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านไปได้ ผมเชื่อว่า กฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมความเป็น Hub ของไทยในภูมิภาคอาเซียน หรือแม้กระทั่ง Hub ของเอเชียได้เป็นอย่างดี ในเรื่องที่สอง การให้บริการจำแนกวินิจฉัยพิกัดอัตราศุลกากร ราคา และถิ่นกำเนิดสินค้าล่วงหน้า เพื่อขจัดข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการ โดยให้ผู้นำเข้ายื่นเรื่องขอหารือกับกรมศุลกากรล่วงหน้าได้ ซึ่งผลการพิจารณาจะมีผลผูกพันทางกฎหมาย สามารถใช้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ได้ โดยขณะนี้ กรมศุลกากรได้เตรียมบุคลากรที่จะรองรับการให้บริการ Advance Ruling ไว้พร้อมแล้ว เรื่องที่สาม การรับรองสถานะทางกฎหมายของการดำเนินการทางศุลกากรที่ทำให้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ว่ามีผลเท่ากับที่ทำด้วยกระดาษ ซึ่งตรงนี้เองกรมศุลกากรส่งเสริมและผลักดันอย่างเต็มที่ เรียกว่า ไร้สาย ไร้พรมแดน ไร้กระดาษ ได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ทุกฝ่ายสบายใจได้ ทำอะไรมีผลทางกฎหมายแน่นอน ซึ่งในประเด็นนี้ กรมศุลกากรก็อยากฝากถึงผู้ประกอบการให้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย เรื่องที่สี่ พื้นที่ควบคุมร่วม หรือที่เรียกว่า Common Control Area: CCAเป็นเรื่องการตรวจร่วมระหว่างประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ไทย ลาว พม่า และมณฑลทางตอนใต้ของจีน โดยจะทำการตรวจเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แทนที่จะตรวจทั้งตอนขาออกและขาเข้า เช่น ผู้ประกอบการจะส่งของออกจากไทยไปลาว ของนั้นจะไปตรวจที่ฝั่งลาวเพียงครั้งเดียว อาจมียกเว้นบ้างเรื่องสัตว์มีชีวิตที่ต้องตรวจในพื้นที่ควบคุมร่วม ของประเทศที่ส่งออกสัตว์มีชีวิตนั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันโรคต่างๆ ที่ติดมากับสัตว์ ไม่ให้แพร่กระจายข้ามประเทศ ซึ่งในการปฏิบัติงานจริง แต่ละประเทศจะส่งเจ้าหน้าที่ของตนไปทำงานตรวจร่วมในพื้นที่ควบคุมร่วมของอีกประเทศหนึ่ง การตรวจร่วมกันจะช่วยประหยัดเวลาของผู้ประกอบการ โดยกรมศุลกากรมีด่านศุลกากรมุกดาหารเป็นด่านนำร่อง ซึ่งจะตรงกับด่านสะหวันเขตทางฝั่งลาว ส่วนด่านอื่นๆ จะปฏิบัติตามกันมาในไม่ช้า ทั้งนี้ กรมศุลกากรพร้อมจะผลักดันเรื่อง การตรวจร่วมให้สอดรับกับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลที่มีความเร่งด่วน เรื่องที่ห้า การปรับปรุงแก้ไขเรื่อง ของยกเว้นอากรตามภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ เช่น ภาชนะใช้ซ้ำหมุนเวียน(Returnable Box) ของมูลค่าเล็กน้อยตามที่อธิบดีกำหนด (De minimis) ของที่ได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูต เป็นต้น สุดท้ายนี้ กรมศุลกากรมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า กฎหมายใหม่ของกรมศุลกากรจะเป็นเครื่องมือ ช่วยให้ทั้งผู้ประกอบการเองก็ดี กรมศุลกากรเองก็ดี เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเองก็ดี ก้าวไปได้ไกลขึ้น สะดวกขึ้นในโลกการค้าปัจจุบัน และส่งผลบวกต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยในเชิงบวกอย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ